เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ไปปฏิบัติการภารกิจในอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี และมีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนจากเหล่าทัพต่าง ๆ รวมทั้งคณะทูตานุทูตจากหลายประเทศเข้าร่วมด้วย
หมู่เรือปราบโจรสลัด (มปจ.) ประกอบไปด้วยกำลังทางเรือ และอากาศยาน ได้แก่ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 1 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง 2 ลำ และกำลังพลชุดปฏิบัติการพิเศษจากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ 2 ชุด พร้อมด้วยกองบังคับการควบคุมและส่วนสนับสนุน รวมทั้งสิ้น 371 นาย โดยหมู่เรือฯ มีกำหนดเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบในวันที่ 10 กันยายน เพื่อปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในอ่าวเอเดน นอกน่านน้ำโซมาเลีย ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองเรือไทยที่ใช้เส้นทางเดินเรือในบริเวณดังกล่าว ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์กับกองทัพเรือของมิตรประเทศต่าง ๆ
ปัญหาโจรสลัดในน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลียเริ่มทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2548 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยในปี 2552 เกิดเหตุจู่โจมโดยโจรสลัดมากถึง 217 ครั้ง ในอดีตเคยมีเรือไทยทั้งเรือสินค้าพาณิชย์และเรือประมงถูกปล้นยึดทั้งสิ้น 6 ลำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความปลอดภัยในชีวิตของลูกเรือและผู้โดยสาร รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการค้าทางทะเล อย่างไรก็ดี บริเวณอ่าวเอเดนและน่านน้ำโซมาเลีย เป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญซึ่งเชื่อมเอเชียเข้ากับยุโรปและแอฟริกา อีกทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรประมงขนาดใหญ่ จึงทำให้มีเรือสินค้าไทยใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวเฉลี่ยเดือนละ 18-25 เที่ยว และมีเรือไทยไปทำประมงนอกน่านน้ำบริเวณดังกล่าวมากกว่า 40 ลำ
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุปล้นยึดเรือไทย รัฐบาลไทยได้ประสานกับกองกำลังนานาชาติที่ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณดังกล่าวให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี มักเกิดอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือตัวประกัน และมีข้อจำกัดในการติดตามเรือ คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 อนุมัติงบประมาณ 270 ล้านบาท เพื่อจัดหมู่เรือจากกองทัพเรือไทยเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดกับกองกำลังผสมทางทะเล (Combined Maritime Forces — CMF) ซึ่งมีประเทศสมาชิก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และเกาหลีใต้
การส่งกองเรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ของไทยในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของลูกเรือไทย และรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติแล้ว ยังถือเป็นการให้ความช่วยเหลือและร่วมแสดงความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกของประชาคมโลก ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจะช่วยสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าของชาติต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--