บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย เนื่องในโอกาสวันประชาธิปไตยสากล (15 กันยายน 2553)

ข่าวต่างประเทศ Friday September 17, 2010 07:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2550 สหประชาชาติได้ยึดถือวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากล ซึ่งสหประชาชาติได้มีข้อมติสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้หลักประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของตนเอง โดยไม่ยึดถือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นต้นแบบเฉพาะของประชาธิปไตย

ในส่วนของไทย นอกเหนือจากการพัฒนาและส่งเสริมประชาธิปไตยภายในประเทศแล้ว ไทยยังมีบทบาทในการพัฒนาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมประชาธิปไตยระหว่างประเทศโดยอาศัยเวทีระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ Community of Democracies เป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย และสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันประชาธิปไตยกว่า 100 ประเทศ และมีความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของ Community of Democracies อย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและชี้แจงท่าทีของรัฐบาลไทยในการพัฒนาประชาธิปไตย ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมในโอกาสครบรอบ 10 ปี การก่อตั้ง Community of Democracy ที่เมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2553 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุม U.N. Democracy Caucus ซึ่งจัดโดยกลุ่ม Community of Democracies ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ในวันที่ 22 กันยายน 2553 ซึ่งมุ่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

Bali Democracy Forum เป็นกรอบความร่วมมือด้านประชาธิปไตยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นความริเริ่มของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคด้านการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมือง เน้นการหารือในลักษณะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้จากกันและกัน โดยเคารพความแตกต่างของพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยได้ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมในการประชุม Bali Democracy Forum เป็นประจำทุกปี รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในอินโดนีเซียซึ่งจัดโดย Bali Democracy Forum เมื่อปี 2552 ด้วย

Asia-Pacific Democracy Partnership (APDP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ไทยร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นกลไกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย โดยเน้นภารกิจหลักในเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพิ่มขีดความสามารถของกลไกการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ให้มีความโปร่งใส และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศผู้เข้าร่วม ขณะนี้มีสมาชิกคือ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์เลสเต ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และไทย ซึ่งประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของ APDP มาเป็นประจำ

นอกเหนือจากความร่วมมือในกรอบระหว่างประเทศที่ได้กล่าวถึงแล้วนั้น กระทรวงการต่าง ประเทศยังมีความร่วมมือกับองค์กรด้านประชาธิปไตยต่างๆ อาทิ Club de Madrid ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งนับตั้งแต่ปี 2544 มีสมาชิกซึ่งเป็นอดีตผู้นำประเทศว่า 70 คนจาก 50 ประเทศ จัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อศึกษาผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านประชาธิปไตยในแง่มุม ต่าง ๆ ที่นักวิชาการของ Club de Madrid ได้ศึกษาไว้ เป็นต้น

ในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรม “ท้องถิ่นไทยสู่สากล” โดยประสานกับองค์กรส่งเสริมธรรมาภิบาลต่างๆ เพื่อนำความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมภิบาลสังคมซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยขยายไปสู่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมจากประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้บริหารเทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชมและองค์กรเอกชนต่าง ๆ จำนวน 60 คน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 และจะขยายผลโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงของธรรมาภิบาลในสังคมและส่งเสริมประชาธิปไตย

กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย โดยเห็นว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มความเข้าใจในระบอบการเมืองที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถนำประสบการณ์การพัฒนาประชาธิปไตย องค์ความรู้และความสำเร็จรวมทั้งอุปสรรค ที่ประเทศอื่นๆ เคยประสบมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้ยั่งยืนต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ