เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals — MDGs) ที่ห้องประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “Addressing the challenge of poverty, hunger and gender equality” และการประชุมของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติประจำภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “The MDGs: A Decade of Achievement and Challenges at the Regional Level”
ในการกล่าวสุนทรพจน์ช่วงพิธีเปิด รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยได้เน้นย้ำและดำเนินนโยบายการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เน้นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านอาหาร การขยายบริการด้านสุขภาพเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคคล และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อยกระดับการจ้างงาน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงกรอบแนวคิดไปสู่การเติบโตที่มีความสมดุลย์ เปิดกว้างและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 เสาหลักสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม
ในช่วงการเสวนาโต๊ะกลมฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงสุนทรพจน์ของนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมว่าด้วยการค้าและพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) ที่ระบุว่า ความสำเร็จในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยสามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้ยกตัวอย่างปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ผ่านการพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ สาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ การชลประทานและการขนส่ง รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การจัดสรรเงินกู้ เพื่อการเกษตร และการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่แข็งขันของภาคเอกชนด้วย
ในการประชุมคณะกรรมาธิการภูมิภาคฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงภารกิจและความสำเร็จของอาเซียนไปการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ รัฐมนตรีว่าการฯ เน้นถึงความริเริ่มของอาเซียนในฐานะเครื่องมือสำคัญในการลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิมทั้ง 6 ประเทศ และ 4 ประเทศสมาชิกใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณูปโภค ความร่วมมือเช่นนี้ช่วยบรรเทาปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ เช่น การย้ายถิ่นฐาน และการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญที่รวบรวมข้อมูลและประสบการณ์ต่าง ๆ และเชื่อมอาเซียนเข้ากับความร่วมมือในภูมิภาค อันส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้เน้นความสำคัญของธรรมาภิบาลในการปราบปรามการทุจริตที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษด้วย
(สุนทรพจน์ของรัฐมนตรีว่าการฯ ฉบับเต็ม) สามารถเข้าดูได้ที่:
http://www.mfa.go.th/internet/news/36838.pdf
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--