ไทยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกและประธาน HRC ครั้งแรกในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 15

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 23, 2010 07:11 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) ได้แถลงข่าวร่วมกับรองประธานจากภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนถาวรฯ จากประเทศนอร์เวย์ สโลวาเกีย คิวบา และแองโกลา เกี่ยวกับการจัดการประชุมคณะมนตรีฯ สมัยที่ 15 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 กันยายน-1 ตุลาคม 2553 ณ องค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา

นายสีหศักดิ์ฯ กล่าวถึงวาระของการประชุมคณะมนตรีฯ สมัยที่ 15 ว่า จะมีการหารือในประเด็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคณะมนตรีฯ ซึ่งจะเป็นภารกิจหลักที่ตนจะต้องทำให้สำเร็จในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน ทั้งนี้ จะไม่มีการรื้อกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะมุ่งปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ของคณะมนตรีฯ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้คณะมนตรีฯ ก้าวถอยหลัง โดยจะเน้นการปรับปรุงในเรื่อง (1) การทำให้คณะมนตรีมีความน่าเชื่อถือ สามารถจัดการกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม (2) ปรับปรุงกระบวนการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Period Review) ในรอบที่ 2 ที่ต้องเน้นการอนุวัติข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม (3) ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างคณะมนตรีกับกลไกพิเศษเพื่อให้มีความร่วมมือที่ดีและมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น และ (4) พยายามลดจำนวนข้อมติ และทำให้ข้อมติมีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะมนตรีฯ สมัยที่ 15 จะมีการหารือกรณีการโจมตีเรือบรรทุกความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่าง ๆ และการส่งเสริมความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อสตรี เป็นต้น ซึ่งในการประชุมสมัยนี้ ประเทศไทยร่วมกับองค์กร Global Alliance Against Traffic in Women (GAATW) และ Self Empowerment Programme for Migrant Women (SEPOM) จัดงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับเหยื่อการค้ามนุษย์ของไทยในระหว่างการประชุมด้วย โดยนายสีหศักดิ์ฯ ได้ร่วมเป็น ผู้อภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย กิจกรรมดังกล่าวซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกระดับทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

การประชุมคณะมนตรีฯ สมัยที่ 15 ถือเป็นการประชุมครั้งแรก ที่ไทยได้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกภายหลังจากที่ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรี วาระปี 2553-2556 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และ นายสีหศักดิ์ฯ ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ วาระ 1 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ซึ่งประเทศไทยจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกที่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างแท้จริง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ