ภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 23, 2010 13:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 65 ณ นครนิวยอร์ก นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ 1) กิจกรรม Side Event Discussion ภายใต้หัวข้อ 1000 Days: Change a Life, Change a Future — Partnership to Reduce Child Undernutrition 2) การประชุมอาเซียน-กลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) และ 3) งานเลี้ยงอาหารกลางวันโดยมีนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นเจ้าภาพแก่หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกกลุ่มเอเชียที่เข้าร่วมการประชุม Millennium Development Goals (MDGs) Summit รวมถึงทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม MDGs Summit Side Event (Ministerial Level) ภายใต้หัวข้อ Achieving MDGs through Partnership — Sharing the experience, achievements and challenges on MDGs in Asia-Pacific นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบหารือกับนาย Peter Maurer ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิสด้วย

ในการประชุม 1000 Days: Change a Life, Change a Future — Partnership to Reduce Child Undernutrition ริเริ่มโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา เพื่อเน้นการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก โดยเน้นโครงการที่ส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่ง MDGs ได้กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการได้รับสารอาหารของเด็กเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก อีกทั้งเพื่อขจัดความยากจนและลดความหิวโหยในประชากรของแต่ละปะเทศ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการดำเนินโครงการด้วย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับโภชนาการมารดาและผ่านยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญสุขภาพของมารดาและเด็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ตลอดจนการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นพันธกรณีของไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ด้วย

ในการประชุมอาเซียน-กลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอแนวทางการสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกจากสองกรอบความร่วมมือ โดยเน้นที่การต่อยอดการเชื่อมโยง (Connectivity) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงด้านพลังงาน โดยเข้ามามีบทบาทในการลงทุนระบบการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงด้านประชาชน โดยเน้นที่การดูแลด้านการท่องเที่ยวระหว่างผู้คนจากสองภูมิภาค การเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเสนอให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร และการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง โดยเน้นประเด็นการขนส่งสินค้าและความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ

ในการเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันของนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแก่หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกกลุ่มเอเชียที่เข้าร่วมการประชุม MDGs Summit รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ใช้เวทีดังกล่าวชี้แจงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทย และยืนยันนโยบายและบทบาทของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ให้ใหม่ (emerging donor) ได้เสนอให้ใช้รูปแบบการให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในลักษณะความร่วมมือสามเส้าต่อไป

ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เป็นประธานในการประชุม MDGs Summit Side Event (Ministerial Level) ภายใต้หัวข้อ Achieving MDGs through Partnership — Sharing the experience, achievements and challenges on MDGs in Asia-Pacific โดยที่ประชุมได้ทบทวนสถานะของ MDGs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเน้นถึงความท้าทายที่มีอยู่ในเรื่องสิทธิสตรีและเด็ก โอกาสทางการศึกษา การสาธารณสุข และการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการขจัดปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงประชาชนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบหารือกับนาย Peter Maurer ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงการผลักดันการเจรจาการค้าเสรีระหว่างสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association — EFTA) กับไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนสวิตเซอร์แลนด์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting — ASEM) นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์พร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในการเสริมสร้างทักษะของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการตรวจสอบผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจตามหลักสากล ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์มีความชำนาญด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ