รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปฏิบัติภาระกิจในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก วันที่ 22 กันยายน 2553

ข่าวต่างประเทศ Friday September 24, 2010 07:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 65 ณ นครนิวยอร์ก นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ในวันที่ 22 กันยายน 2553 ดังนี้ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยเรื่อง Foreign Policy and Global Health Initiative พบหารือกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ นาย Vidar Helgesen เลขาธิการสถาบัน International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA) นาย Robert Elmann ประธาน American Jewish Committee (AJC) นาย Kurt Campbell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นาย Urmas Paet รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย และนาย Vuk Jeremic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบีย นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษที่ World Leadership Forum ด้วย

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยเรื่อง Foreign Policy and Global Health Initiative มีประเทศบราซิลและนอร์เวย์ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ และมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงนโยบายการต่างประเทศกับเรื่องอนามัยในระดับโลก รวมทั้งผลักดันให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับขององค์กรภายใต้กรอบของสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation — WHO) เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการประสานงานระหว่างกัน รวมทั้งกระชับความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและต้องการความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ เช่น เฮติ และปากีสถาน ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเน้นด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือด้านอนามัยสามารถดำเนินการได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการให้ความช่วยเหลือทางอ้อมสามารถดำเนินการได้ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบดังกล่าวผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะผลักดันให้แถลงการร่วมของการประชุมดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุมสหประชาชาติต่อไปด้วย

ในการพบกับนาย Vidar Helgesen เลขาธิการสถาบัน International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA) ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทย และเสนอให้สถาบันฯ ให้ความร่วมมือกับไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและทักษะให้กับหน่วยงานของไทยทางด้านการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตย ส่วนในการพบหารือกับนาย Peter Elmann ประธาน American Jewish Committee (AJC) รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ขอความร่วมมือในการช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย

ในการพบหารือกับนาย Kurt Campbell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสดังกล่าวทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจร่วมกันของสองฝ่าย เช่น ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพชาวม้ง พัฒนาการประชาธิปไตยในพม่า และกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้แจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ รับทราบสถานะล่าสุดของพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทยด้วย

ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนาย Urmas Paet รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย และนาย Vuk Jeremic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบีย เพื่อทบทวนสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกัน และลู่ทางการขยายความร่วมมือในอนาคต อาทิ ความร่วมมือด้านการตรวจลงตรา การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม และระบบการบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึก กับฝ่ายเอสโตเนีย ความร่วมมือด้านด้านการศึกษากัเซอร์เบีย ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้ใช้โอกาสดังกล่าวอธิบายสถานะล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย อนึ่ง ภายหลังการพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย เพื่อส่งเสริมให้มีการหารือระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอในระดับรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ โดยการสลับกันเป็นเจ้าภาพเพื่อทบทวนประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี รวมทั้งประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความสนใจร่วมกัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษที่ World Leadership Forum จัดโดยสมาคม Foreign Policy Association (FPA) ในหัวข้อ Thailand: A Path to Economic Growth โดยได้บรรยายถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินมาตรการของรัฐบาลผ่านนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทย เช่น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจแผนที่ 1 ที่มุ่งช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของผู้ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแผนที่ 2 ที่ครอบคุลการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปการให้บริการด้านสาธารณสุข และการปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้ องค์ประกอบที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย คือ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ และการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฏหมาย ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากการลงทุนรายใหญ่ ๆ ทั้งที่เป็นรายใหม่และที่ขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ