รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมพิธีเปิดการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 65 และปฏิบัติภารกิจคู่ขนาน

ข่าวต่างประเทศ Monday September 27, 2010 07:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทย นำโดยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 65 รวมทั้งยังได้เข้าร่วมในการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนาย Emomali Rahmon ประธานาธิปดีสาธารณรัฐทาจิกิสถาน โดยในการพบหารือดังกล่าวทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยฝ่ายทาจิกิสถานได้ขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือในการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเชิญชวนให้ไทยพิจารณาไปลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกษตรของทาจิกิสถาน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในเรื่องการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Commission) และจัดให้มีการหารือทางการเมือง (political consultation) เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันความร่วมมือระหว่างกันต่อไป อนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานาธิปดีทาจิกิสถานในฐานะประธานองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference — OIC) ที่ให้การสนับสนุนไทยในการสร้างความเข้าใจต่อประเทศมุสลิมอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้ปฏิบัติภารกิจแยก โดยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting — IAMM) และการประชุม Ministerial Meeting of the UN Democratic Caucus รวมทั้งยังได้เข้าพบหารือกับนาย Shimon Peres ประธานาธิบดีรัฐอิสราเอลด้วย

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เน้นการเตรียมท่าทีในประเด็นต่าง ๆ ที่จะนำเข้าหารือระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา รวมถึงการพิจารณาถ้อยแถลงร่วม (joint declaration) ที่จะเป็นผลของการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ทบทวนความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงแผนแม่บทการดำเนินการความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity Master Plan) ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่าไม่ใช่แค่เป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ เช่น การสร้างระบบสาธารณปโภคพื้นฐาน หรือการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรในการข้ามแดนเท่านั้น แต่เป็นการเน้นเรื่องเชื่อมโยงของประชาชน ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว การแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และการชำระประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ทบทวนบทบาทของอาเซียนในกรอบของสหประชาชาติ โดยที่ประชุมฯ เห็นว่า ควรเน้นให้ควาสำคัญกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ท่าทีและการดำเนินการร่วมกันในฐานะกลุ่มประเทศอาเซียนในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น สภาวะโลกร้อน และปัญหาโจรสลัด เป็นต้น รวมทั้งการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ของอาเซียน เช่น การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบสหประชาชาติ เป็นต้น

สำหรับการประชุม Ministerial Meeting of the UN Democratic Caucus ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อว่าด้วยพลังของสตรีที่มีนัยสำคัญในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย (Women as a Critical Force in Democratic Governance) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสตรี บทบาทของสตรีในการบริหารจัดการบ้านเมือง โดยรัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้ให้ความเห็นในที่ประชุมนี้ โดยเน้นว่า ปัจจุบันสตรีไทยมีบทบาทสำคัญและบทบาทนำในทุกภาคส่วนของสังคม แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคการเมือง ซึ่งแม้ว่า ไทยเป็นสังคมที่เปิดและ มีประชาธิปไตย แต่สตรียังเข้ามามีบทบาทน้อย แม้โอกาสจะเปิดให้ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้คงจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบที่แตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของสังคมที่มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่า เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและวิเคราะห์เพิ่มเติมกันต่อไป

รัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าพบหารือกับนาย Shimon Peres ประธานาธิบดีรัฐอิสราเอล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีอิสราเอลได้สอบถามถึงพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และชื่มชมในพระราชกรณียกิจที่มีคุณานุประโยชน์จากโครงการพระราชดำริที่มากมาย และกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง ที่มีมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า มีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือกันอีกมาก ไทยสามารถเรียนรู้วิทยาการจากอิสราเอล ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้อธิบายถึงสถานะล่าสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่า ประเทศไทยจะมีปัญหาการเมือง แต่ความมั่นใจของนักธุรกิจและนักลงทุนสะท้อนให้เห็นถึงรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคงของไทย นอกจากนี้ ประธานธิบดีอิสราเอลได้กล่าวถึงพัฒนาการล่าสุดของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ