เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทย นำโดยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนาย Ali Ahmed Karti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐซูดาน นาย Moses Masika Wetangula รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเคนยา นาย Alfredo Moreno Charme รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐชิลี และนาง Patricia Espinosa Cantellano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเม็กซิโก รวมถึงเข้าร่วมการประชุม Revitalizing the Work of the Conference on Disarmament and Taking Forward Multilateral Disarmament Negotiation การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Organisation of the Islamic Conference (OIC) Ministerial Meeting) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชาสหประชาชาติ และการประชุมอาเซียนกับกลุ่มริโอ อนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าร่วมการพบปะชาวไทยในสหรัฐอเมริกาพร้อมนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐซูดาน รัฐมนตรีต่างประเทศได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองล่าสุดในซูดาน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ไทยจะส่งทหารจำนวน 800 นายเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ โดยนาย Karti ได้เสนอให้ไทยส่งคณะล่วงหน้าเยือนซูดานเพื่อลงพื้นที่สังเกตุการณ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ใช้โอกาสการหารือดังกล่าวกระชับความสัมพันธ์ โดยฝ่ายซูดานได้เชิญให้ไทยเข้าลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านเกษตรในซูดานด้วย ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ประเทศที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานได้ร่วมกันประชุมเพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ในการพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณรัฐเคนยา รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังจากที่ได้มีการหารือช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เคนยาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ นาย Wetangula มีกำหนดเยือนประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และโดยที่เรือรบของกองทัพเรือไทย 2 ลำกำลังเดินทางไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังนานาชาติเพื่อป้องกันปัญหาจากโจรสลัด ฝ่ายซูดานจึงขอให้ฝ่ายไทยไปร่วมหารือที่เมือง Mombasa ซึ่งเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้กับอ่าวเอเดนซึ่งจะจัดการต้อนรับเรือไทย และหารือเกี่ยวกับแผนงานและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโจรสลัดในอ่าวเอเดน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยสอบถามคำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกโจรสลัดจับตัวไป ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายเคนยารับจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการประสานงานในเรื่องนี้ต่อไป
ในการพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐชิลี นาย Charme ได้สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี เพื่อเป็นช่องทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศผ่านการค้าและการลงทุน ในส่วนของการพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก รัฐมนตรีต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณที่ฝ่ายเม็กซิโกได้ช่วยประสานและลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือของไทยไปยังผู้ประสบภัยพิบัติที่ประเทศเฮติเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงได้สอบถามถึงการร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือเฮติต่อไปด้วย ทั้งนี้ นาง Cantellano ได้แสดงความประสงค์ให้ไทยส่งคณะผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ เพื่อแสวงหาท่าทีร่วมระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบรรลุถึงข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศต่อไป
ในการเข้าร่วมการประชุม Revitalizing the Work of the Conference on Disarmament and Taking Forward Multilateral Disarmament Negotiation ซึ่งไทยได้รับมอบหมายจากของประเทศผู้สังเกตุการณ์อื่น ๆ ในการแสดงท่าทีร่วม เรียกร้องให้ที่ประชุมฯ แสดงความมุ่งมั่นในการลดการสะสมอาวุธของประเทศต่าง ๆ รวมถึงยุติการใช้และครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยยังได้แสดงความประสงค์ของกลุ่มประเทศผู้สังเกตุการณ์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของการประชุมฯ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงและมีผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชาสหประชาชาติได้หารือเพื่อเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ โดยทุกประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ และเน้นดำเนินการผ่านคณะผู้แทนถาวร ณ นครนิวยอร์กและนครเจนีวาของประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนั้น ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความประสงค์ที่จะร่วมกับสหประชาชาติในการลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่าและประเทศสมาชิกใหม่ รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรภายใต้กรอบสหประชาชาติ อาทิ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific — ESCAP) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program — UNDP) เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals — MDGs) ภายในปี 2558 การดำเนินการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Regional Connectivity) และการเสริมสร้างทักษะของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือและบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย
ที่ประชุมอาเซียนกับกลุ่มริโอ (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 23 ประเทศจากภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน) ซึ่งมีประเทศลาวและชิลีเป็นประธานร่วม ได้เน้นความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่มผ่านการค้าการลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางทะเล การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกัน การท่องเที่ยว และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของสองกลุ่ม
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--