การอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ในช่วง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 — 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:36 —กระทรวงการคลัง

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้ปรับกำหนดการยื่นคำขออนุญาตและแนวทางในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ ปีละ 4 ครั้ง คือ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายนของทุกปี รายละเอียดปรากฏตามแถลงข่าวกระทรวงการคลัง เรื่อง การปรับกำหนดการยื่นคำขออนุญาตและแนวทางการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของคำขออนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ฉบับที่ 84/2551 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 นั้น

สำหรับการพิจารณาอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ในช่วง 1 ตุลาคม 2553 — 31 มีนาคม 2554 กระทรวงการคลังได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทย รวมถึงโอกาสที่นักลงทุนในประเทศสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยแล้ว เห็นควรอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศจำนวน 3 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 โดยมีรายชื่อและวงเงินการอนุญาต ดังนี้

(1) Central American Bank for Economic Integration (CABEI) วงเงิน 4,000 ล้านบาท

(2) ING Bank NV (ING) วงเงิน 10,000 ล้านบาท

(3) The Export — Import Bank of Korea (KEXIM) วงเงิน 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการอนุญาตในกรณีที่สถานภาพ หรือสถานะทางการเงินของผู้ที่ได้รับอนุญาต หรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

กระทรวงการคลังขอขอบคุณผู้ยื่นคำขออนุญาตทุกรายที่ให้ความสนใจในการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย สำหรับผู้มีความประสงค์จะขออนุญาตในรอบถัดไปสามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2553

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 113/2553 6 ตุลาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ