รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 8, 2010 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2553

Summary:

1. ศูนย์วิจัย SCB เผยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาท

2. IMF คาดการณ์ศรษฐกิจโลกในปี 2554 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

3. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ต.ค. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 4.0

Highlight:
1. ศูนย์วิจัย SCB เผยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาท
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันทั่วประเทศส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยผู้ประกอบการ และลูกจ้างในจังหวัดที่เดิมมีค่าแรงขั้นต่ำในระดับต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยโครงสร้างของค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด เมื่อมีการกำหนดให้ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมดทั้งประเทศ ทำให้เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเดิม บางจังหวัดจะมีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำภายใต้ข้อเสนอใหม่นี้ถึงร้อยละ 66 เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบางจังหวัดเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 21 เช่น กรุงเทพฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศจะทำให้จังหวัดที่ปัจจุบันมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาจเกิดภาวะแรงงานเกินระบบ และในขณะเดียวกัน อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อเนื่องจากผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าตามราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มแรงงานขั้นต่ำจะส่งผลให้ประชาชนรากหญ้าโดยรวมมีรายได้ที่ดีขึ้น มีการเอารัดเอาเปรียบที่ลดน้อยลงและจะช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. IMF คาดการณ์ศรษฐกิจโลกในปี 2554 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้
  • IMF ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2554 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดียคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยทาง IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2554 จากร้อยละ 2.9 ต่อปี มาอยู่ทีร้อยละ 2.3 ต่อปี และคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี ชะลอลงจากปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี แต่คิดเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคือ ภาคการเงินที่ยังคงมีความอ่อนแอต่อความเสี่ยงด้านต่างๆ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มแผ่วลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้หมดลงไป และปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งจะส่งผลต่อมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปของประเทศดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าที่จะขยายตัวชะลอลงในปี 2554 จากความต้องการในการนำเข้าสินค้าของประเทศ สหรัฐฯ ทวีปยุโรป และญี่ปุ่น ทีมีแนวโน้มชะลอลง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย น่าจะยังไม่สามารถทดแทนการชะลอตัวลงของภาคส่งออกได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 14 ประเทศจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ดีขึ้นจากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นสำคัญ สำหรับในปี 2554 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 14 ประเทศจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี
3. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ต.ค. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 4.0
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ต.ค. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 4.0 จากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีไม่มากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของฟิลิปปินส์ในเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ประกอบกับความเสี่ยงในการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในครั้งนี้นั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการชะลอการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ โดยค่าเงินเปโซแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 53 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารในการแข่งขันของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวน่าที่จะชะลอการแข็งค่าของค่าเงินได้ในระยะสั้น เนื่องจากการทำมาตรการ QE ของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐและญี่ปุ่น อาจส่งผลต่อค่าเงินของประเทศดังกล่าวให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และเศรษฐกิจขอประเทศดังกล่าวที่ยังคงมีความเปราะบางจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังประเทศเอเชีย รวมถึงฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ