รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2010 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2553

Summary:

1. กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานหรือ "labour bank"

2. ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง

3. ผู้นำกระทรวงเศรษฐกิจ-ธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่บรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาค่าเงิน

Highlight:
1. กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานหรือ "labour bank"
  • กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานหรือ "labour bank" จากที่ผ่านมาข้อมูลด้านแรงงานจะยังกระจายกันอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ โดยกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญด้านแรงงาน โดยในเบื้องต้นจะมีการจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ และจะทำให้มีความพร้อมในการให้บริการจัดหางานของผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการและการพัฒนาด้านฝีมือแรงงาน โดยแผนงานขั้นต่อไปในอนาคตศูนย์ข้อมูลแรงงานนี้จะบูรณาการด้านข้อมูลแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลิตและจัดหากำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ล่าสุดกระทรวงแรงงานพร้อมนำเสนอโครงการให้สำนักงานงบประมาณแล้วเพื่อนำเข้าครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานไทยอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงตัว โดยล่าสุดในเดือนก.ค. 53 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบปี นอกจากนี้ ยังพบว่าในภาคการผลิต เริ่มประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน เนื่องจากจะ ทำให้สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ทันท่วงที รวมทั้งยังจะสามารถวางแผนในการผลิตแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
2. ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง
  • สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ราคาทองคำในสัปดาห์นี้ทะยานขึ้นทำสถิติใหม่ทุกวัน หลังจากที่สินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงปรับค่าลดลง ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดทองคำ กระทั่งราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 1,357.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยราคาในตลาดล่วงหน้าไนเม็กซ์ เบรนท์ ดูไบ และเวสเท็กซัสปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 83.71 84.84 82.25 และ 83.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกหลายสาขาได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีการส่งออกที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรป อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง กุ้งสดและแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของ GDP และพึ่งพารายได้เงินตราต่างประเทศ (ทั้งส่งออกสินค้าและบริการ) กว่าร้อยละ 60 ของ GDP
3. ผู้นำกระทรวงเศรษฐกิจ-ธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่บรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาค่าเงิน
  • ผู้นำกระทรวงเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกเข้าประชุมประจำปีที่จัดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กรุงวอชิงตันดีซี โดยต่างสนับสนุนการประสานงานร่วมมือกัน แต่ยังไม่สามารถตกลงนโยบายที่เป็นรูปธรรมได้ อีกทั้งยังคงสนับสนุนนโยบายค่าเงินอ่อนตัวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้นำกระทรวงเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลางต่างมองว่าค่าเงินหยวนปัจจุบันอ่อนค่าเกินไป อีกทั้งมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่เงินทุนไหลเข้าล้นภูมิภาคเอเชีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาค่าเงินแข็งค่าเป็นปัญหาที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกสูงกำลังประสบอยู่ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียต่างแข็งค่าขึ้นโดยทั่วหน้า โดยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแล้ว ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี รูปีอินเดีย และเปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 9.5 4.2 5.3 และ 6.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เงินทุนไหลเข้าประเทศเศรษฐกิจใหม่ และทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศต่างๆในเอเชียอาจปรับเข้าสู่การเติบโตที่สมดุลมากขึ้น โดยมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ