รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2010 10:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2553

Summary:

1. ธปท. เผยผลประเมินใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหมาะสม

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 73.5

3. ธนาคารกลางของประเทศเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

Highlight:
1. ธปท. เผยผลประเมินใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหมาะสม
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าผลการประเมินกรอบเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน ของธปท. จาก ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศพบว่าการใช้กรอบเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินยังเหมาะสมที่จะใช้กับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันธปท.ใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ระดับ 0.5-3% เป็นเป้าหมาย ในการดำเนินนโยบายการเงิน ต่ก็แนะนำให้ธปท.ให้ความสำคัญกับค่ากลางของเป้าหมายมากขึ้นแนะนำให้ธปท.มีการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลของกนง.ให้สาธารณชนรับรู้มากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินโยบายการเงินแบบ Inflation targeting ที่ธปท.ได้จัดทำในปัจจุบันนั้นเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นมาตรฐานในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจากการศึกษาแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเสถียรภาพทางด้านราคาและการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังไม่มีประเทศใดที่นำเอากรอบนโยบายดังกล่าวมาใช้และมีการยกเลิกการใช้ ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ปัจจุบันที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยงชัดเจน สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ร้อยละ 12.0 และ 9.1 ต่อปีและเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อบ่งชีได้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ เดือน ก.ย. ที่ระดับ 1.1 ต่อปีนั้นบ่งชี้ว่า ธปท. ยังคงมีช่องทางในการบริหารจัดการค่าเงินบาทซึ่งปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 10.3 จากช่วงต้นปีให้มีเสถียรภาพมากขึ้นได้ด้วย
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 73.5
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.ย. 53 อยู่ที่ 73.5 สูงขึ้นจากเดือน ส.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ 72.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.51 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การที่กระทรวงการคลังปรับเพิ่มประมาณการณ์ GDP ของไทยในปีนี้เป็น 7.5% 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวจากเดือน ส.ค. 3) ดัชนี SET Index เดือน ก.ย.ปรับเพิ่มขึ้น 62.11 จุด 4) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ 5) การส่งออกเดือน ส.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง และ 6) โครงการลงทุนตามแผนไทยเข้มแข็งเริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น บ่งชี้ว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้ สศค. คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ขยายตัวอยู่ในระดับไม่สูงมาก ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ก.ย.53) และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 (ส.ค. 53) ผนวกกับเสถียรภาพการคลังที่ยังแข็งแกร่ง จากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก โดยในเดือน มิ.ย. 53 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ร้อยละ 43.2 ทำให้ภาครัฐยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านการคลังได้อย่างต่อเนื่องหากจำเป็น ส่งผลให้ สศค. คาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
3. ธนาคารกลางของประเทศเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • ธนาคารกลางของประเทศเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดือน ก.ค. 53 ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยในแถลงการณ์กล่าวว่าเงินทุนไหลเข้าจากประเทศแถบตะวันตกมีแนวโน้มไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนมาก จากการประกาศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายใหม่ของสหรัฐฯนั้นอาจส่งผลกระทบให้ค่าเงินวอนมีแนวโน้มแข็งค่าสูงขึ้น ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวมิได้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ 25 Basis point ร้อยละ 2.5 ต่อปี
  • ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อที่จะรักษาระดับการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินวอนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและอาจกระทบผู้ส่งออกในประเทศ และในขณะเดียวกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำบ่งชี้ได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปี นั้นทำให้การคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ส่งผลกระทบกับระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ