รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 19, 2010 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2553

Summary:

1. สนง.สถิติฯ เผยผลสำรวจเดือนส.ค. 53 คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร 4.1 แสนคน

2. หอการค้าสุราษฎร์ชี้พิษเงินบาทแข็งไม่กระทบส่งออก

3. เงินเยนแข็งกระทบอุปสงค์ภาคบริการในญี่ปุ่น

Highlight:
1. สนง.สถิติฯ เผยผลสำรวจเดือนส.ค. 53 คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร 4.1 แสนคน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนสิงหาคม 53 พบว่ามีจำนวนผู้มีงานทำรวมทั้งสิ้น 38.71 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.1 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในสาขาเกษตรกรรมมากถึง 4 แสนคน ขณะที่สาขาการผลิตกลับมีผู้มีงานทำลดลงโดยเฉพาะสาขาผลิตไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ การผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มและการผลิตยานยนต์ ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม 53 จำนวนผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 3.5 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานจากสาขาการผลิต 9.9 หมื่นคน โดยมีผู้ว่างงานลดลง 9.3 หมื่นคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 0.3 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่ามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8 พันคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเกษตรในเดือนสิงหาคม 53 สอดคล้องกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูงร้อยละ 31.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 32.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน โดยสินค้าทางการเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ยางพารา และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานมีจำกัดซึ่งเกิดจากภัยแล้งและโรคระบาด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทางการเกษตรในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกมากขึ้น
2. หอการค้าสุราษฎร์ชี้พิษเงินบาทแข็งไม่กระทบส่งออก
  • ประธานหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ภาวะเงินบาทแข็งค่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังหวั่นวิตกทั้งนี้คาดว่าหากมีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะไปกระทบการส่งออกในปีหน้าได้ โดยในส่วนของการส่งออกในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบอยู่บ้างคือ การส่งออกประเภทอาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา แต่ในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่ายังมีส่วนดีอยู่บ้างคือ การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตให้ดีขึ้นได้ ด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรกลจากต่างประเทศมาปรับปรุง หรือเสริมกำลังในการผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงไปกว่าเดิม เพื่อแข่งขันให้ได้ในตลาดโลก และเป็นโอกาสทองของผู้บริโภคภายในประเทศที่จะได้ใช้ของดีราคาถูก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้รายได้จากภาคการส่งออกลดลง โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศสูง ขณะที่ธุรกิจที่มีการนำเข้าวัตถุดิบสูงก็จะเป็นการชดเชยกันไป ส่วนข้อดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลง และการบริโภคสินค้าจากต่างประเทศในราคาถูกลงนั้น หากมีการนำเข้ามากขึ้น จะเป็นอีกแรงที่จะช่วยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยลงได้ ทั้งนี้ สศค.คาดว่า การส่งออกในปี 53 จะยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.0 ต่อปี หรือช่วงคาดการณ์ร้อยละ 24.8 - 25.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและฐานการคำนวณที่กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ในปี 54 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี หรือช่วงคาดการณ์ร้อยละ 11.0 - 13.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ก.ย. 53)
3. เงินเยนแข็งกระทบอุปสงค์ภาคบริการในญี่ปุ่น
  • อุปสงค์ภาคบริการของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 53 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสนับสนุนการคาดการณ์ของนายกรัฐมนตรี Naoto Kan ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอกหลังจากที่เงินเย็นปรับแข็งค่าขึ้นอีกซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออก สอดคล้องกับคำกล่าวของผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นที่เห็นว่าการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะล่าช้าออกต่อไปอีก ทั้งนี้ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณปีนี้อีก 5.1 แสนล้านเยน (63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นและธุรกิจขนาดย่อมเพื่อกระตุ้นการบริโภคซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายที่สุดแล้ว แต่รัฐบาลใหม่กำลังเผชิญปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นมากดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอนสูง ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเครื่องมือทางการเงินการคลัง ซึ่งสะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากที่ร้อยละ 0.1 และหนี้สาธารณะที่สูงมากเกือบ 2 เท่าของ GDP

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ