รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 12:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2553

Summary:

1. ธปท. ชี้เฟดงัดมาตรการ QE ไม่กระทบตลาดเงิน

2. ธ. กสิกรไทยคาด GDP ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี จากเดิมขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี

3. ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 กว่า 63,000 ล้านดอลลาร์

Highlight:
1. ธปท. ชี้ธนาคารกลางสหรัฐใช้มาตรการ QE ไม่กระทบตลาดเงิน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความกังวลต่อความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในช่วงนี้ถือว่าน้อยมาก เพราะค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวเป็นไปในสองทิศทาง ไม่ใช่ลักษณะการเคลื่อนไหวในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นพิเศษ สำหรับมาตรการ QE รอบสองที่ธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มใช้ในเดือน พ.ย. เชื่อว่าผลของมาตรการไม่น่าจะมีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดเงินโลก เท่ากันในรอบแรก เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่รับข่าวสารไปบ้างแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบที่ 2 ของสหรัฐ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ แต่มีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงทั้งนี้ ทางการสหรัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 จากความวิตกกังวลต่อการที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวช้า และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.6 โดยธนาคารกลางสหรัฐมีแผนจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และเปิดโอกาสที่จะซื้อเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีแรงขายดอลลาร์ออกมามากขึ้น ส่งผลให้เงินสกุลหลักอื่นๆเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจาก 33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นปี 53 เป็น 29.86 บาท/ดอลลาร์ (26 ต.ค. 53) หรือคิดเป็นร้อยละ10.41 จากต้นปี อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากแรงกดดันจากเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรเริ่มลดลง ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคมากขึ้น
2. ธ. กสิกรไทย คาด GDP ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี จากเดิมขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายประมาณร้อยละ 0.4-1.0 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 ดังนั้น จึงทำให้กรณีที่เลวร้ายที่สุด GDP ในไตรมาส 4/2553 จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ภาพรวม GDP ทั้งปี 53 ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 ต่อปี จากเดิมที่คาดจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.3 — 7.8 ต่อปี) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวที่สูงในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 10.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีความเสียหายประมาณ 14.2 พันล้านบาท (ช่วงคาดการณ์ 8.9 - 24.9 พันล้านบาท) โดยกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 53 คิดเป็นร้อยละ -0.15 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ -0.27 ถึง -0.09 ต่อปี)
3. ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 กว่า 63,000 ล้านดอลลาร์
  • คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่มูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 26 ต.ค. 53 เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบสอง ขณะที่ค่าเงินเยนยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ภาคการส่งออกที่เผชิญมรสุมจากอุปสงค์ต่างชาติที่ลดลงอยู่แล้ว มีศักยภาพในการแข็งขันน้อยลงไปอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยุงการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งนี้ GDP ญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ของปี 53 อย่างไรก็ตาม การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จ่ายจะมีผลทำให้ค่าเงินเย็นที่แข็งค่าอยู่แล้วมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น โดยค่าเงินเยนแข็งตัวสูงสุดในรอบ 15 ปี แตะระดับ 80.41 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ณ วันที่ 25 ต.ค. 53 ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากทั้งค่าเยนที่แข็งค่าขึ้นและจากความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวเพียงร้อยละ 15.8 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ในปี 53

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ