คำแถลงข่าวการประกาศผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
โดยบริษัท Moody’s Investors Service
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Moody’s Investors Service เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ว่า Moody’s ได้ปรับแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign and Local Currency Government Bond Rating) ที่ระดับ Baa1 จากระดับที่เป็นลบ (Negative) เป็นระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable) ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและเสถียรภาพทางการเงินที่ดีของรัฐบาลแม้ในภาวะที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย Moody’s ได้มีการกล่าวชมรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศไปได้ นอกจากนี้ Moody’s ยังได้ปรับเพิ่มเพดานอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bond Ceiling) จากเดิมที่ระดับ A3 เป็น A2 และปรับแนวโน้มที่เป็นลบให้เป็นระดับที่มีเสถียรภาพ ในส่วนเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Ceiling) Moody’s ยังคงยืนยันที่ระดับ Baa1 แต่ได้ปรับแนวโน้มที่เป็นลบให้เป็นระดับที่มีเสถียรภาพด้วยเช่นกัน ดังสรุปได้ตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 Long-Term Thailand’s Sovereign Credit Rating by Moody’s
Category Long-term Outlook Foreign and Local Currency Government Bond Rating Baa1 Negative" Stable Foreign Currency Bond Ceiling A3"A2 Negative" Stable Foreign Currency Deposit Ceiling Baa1 Negative" Stable
หลักการและเหตุผลในการปรับทิศทางอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ การปรับแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยให้เป็นระดับที่มีเสถียรภาพเป็นการสะท้อนมุมมองของ Moody’s ว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ปรับปรุงดีขึ้นเพียงพอที่จะชดเชยผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคต นอกจากนี้ สถานะการเงินของรัฐบาลไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคงหลังจากการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สถานะการชำระเงินต่างประเทศที่ปรับปรุงดีขึ้นจะช่วยรับมือกับความผันผวนของกระแสเงินทุนได้
รัฐบาลไทยสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นปฏิภาคกับวัฏจักรเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะการคลังของประเทศ Moody’s จึงคลายความกังวลในผลกระทบของนโยบายดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นปัจจัยทำให้ Moody’s ปรับลดแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยให้เป็นลบเมื่อเดือนธันวาคม 2551 โดยเห็นได้จากรายรับของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามวัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รายจ่ายภาครัฐลดลงเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่หมดลง นอกจากนี้ สถานะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลยังกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ โดย Moody’s คาดว่า ระดับหนี้โดยตรงของรัฐบาลจะคงที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 28 ของ GDP ในปี 2553 ในขณะเดียวกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากปี 2549 มาอยู่ที่ 169 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2553 จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ ระดับหนี้ต่างประเทศของภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนสามารถระดมทุนภายในประเทศได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจของไทยยังต้องพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศในด้านการส่งออกและรายรับจากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก รวมถึงปัจจัยทางการเมืองต่างๆ ที่อาจจะก่อให้ เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในระยะใกล้ถึงระยะปานกลาง ซึ่งรวมถึงผลการตัดสินของศาลที่จะมีออกมาในระยะนี้ วันครบรอบเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่สำคัญ และการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นก่อนเดือนพฤศจิกายน 2554 อย่างไรก็ดี Moody’s เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลที่ยึดมั่นในระเบียบและความมั่นคงจะช่วยลดความเสี่ยงของการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง จะทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสถานะการเงินของรัฐบาล หรือดุลการชำระเงินของประเทศ และช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ที่จะมีเพิ่มขึ้นตามมา
Moody’s ปรับเพิ่มระดับเพดานความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bond Ceiling) เป็น A2 ซึ่งเพดานความน่าเชื่อถือดังกล่าวระบุถึงอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกโดยองค์กรที่ได้รับการจัดอันดับจะได้รับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเสรีภาพทางการเงินในประเทศนั้นๆ ด้วย เพดานความน่าเชื่อถือดังกล่าวประเมินจากความเป็นไปได้ว่า ในกรณีที่รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้จะก่อให้เกิดการพักชำระหนี้ในระบบอย่างกว้างขวางหรือไม่ ซึ่งจากการที่ประเทศไทยมีการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมาก และนโยบายของไทยในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่การเปิดเสรีให้ไปลงทุนในต่างประเทศ ประกอบกับรัฐบาลพึ่งพาการกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ Moody’s จึงประเมินว่า ความเสี่ยงในการพักชำระหนี้ดังกล่าวลดลง
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
0-2265-8050 ต่อ 5518
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 123/2553 28 ตุลาคม 53--