รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 — 5 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 09:52 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 53 มีจำนวน 4,266.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.7 ของ GDP
  • สินเชื่อเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี ในขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเดือน ก.ย.53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ย. 53 เกินดุลที่ 2,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี
  • GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการยูโรโซนเดือนต.ค. 53 อยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน ที่ 53.3
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือนต.ค. 53 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 54.7

Indicators next week

 Indicators                       Forecast            Previous
Sep: Unemployment rate               0.9                 0.9
(%of total labor force)
  • คาดว่าจะยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราการว่างงานจะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไปเนื่องจากแรงงานเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
Economic Indicators: This Week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 53 มีจำ นวนทั้งสิ้น 4,266.70 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.06 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.7 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 23.89 พันล้านบาท ในขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู ลดลงสุทธิ 8.57 พันล้านบาท 0.26 พันล้านบาท และ 4.13 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP
  • สินเชื่อเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ในขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าความต้องการสินเชื่อเริ่มชัดเจนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านเงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้ภาคครัวเรือนมีเงินออมมากขึ้น ประกอบกับการระดมเงินฝากของสถาบันการเงินที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 ต่อปี หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวร้อยละ -7.1 จากเดือนก่อนหน้าทำให้ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือนก.ย. 53 ที่ขยายตัวชะลอลงมากเป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กในหมวดภาคการก่อสร้างที่ชะลอลง ซึ่งมาจากเหล็กเส้นกลมที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี รวมถึงเหล็กเส้นข้ออ้อย ลวดเหล็ก และท่อเหล็กกล้าที่หดตัวร้อยละ -6.6 -11.3 และ -12.8 ต่อปีตามลำดับ สะท้อนถึงการชะลอตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนก.ย.53 เกินดุลที่ 2,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการเกินดุลการค้าในระดับที่สูงที่ 3,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลที่ประมาณ 476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าที่เกินดุลในระดับที่สูงมาจากมูลค่าการส่งออกที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17,995 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดสินค้ายานยนต์ ยางพารา ผลิตพันธ์ปิโตรเลียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงจากการนำเข้าน้ำมันดิบและทองที่ลดลงได้ส่งผลให้ดุลการค้าปรับตัวขึ้นไปในระดับที่สูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ดุลบริการ เงินโอน และรายได้ที่ขาดดุลมาจากรายจ่ายผลประโยชน์การลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่ารายรับจากการท่องเที่ยวและรายรับจากผลประโยชน์การลงทุนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปีชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 สาเหตุจากราคาสินค้าอาหารสดบางรายการมีระดับราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร และไข่ไก่ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับสถานศึกษาปิดภาคเรียนทำให้ความต้องการบริโภคไข่ลดลง ทั้งนี้มีรายการสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) ผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ต่อปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ระดับราคาสูงกว่าช่วงปกติโดยเฉพาะกะหล่ำปลี ผักกาดขาว มะม่วง และกล้วยน้ำว้า เป็นต้น 2) ไฟฟ้า น้ำประปาฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี เนื่องจากหมดอายุมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายน้ำประปา และ 3) ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำ มันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้น ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.03 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี โดยดัชนีในหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งสินค้าสำคัญในหมวดนี้ได้แก่ บานประตู หน้าต่าง วงกบประตู หน้าต่าง ไม้ปาร์เก้ ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิเช่น อิฐมอญ อิฐโปร่ง กระจกใส รวมถึงหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี เช่น ท่อร้อยสายไฟ สายไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราการว่างงานเดือนก.ย. 53 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการว่างงานจะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป เนื่องจากแรงงานเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม

Global Economic Indicators: This Week

USA: improving economic trend
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงนโยบาย Quantitative Easing รอบที่ 2 วงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยจะทยอยเข้าซื้อเดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงเดือน มิ.ย.54 หลังจากทีเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน โดย GDP เบื้องต้นในไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq) เนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม(Mfg PMI) ในเดือน ต.ค. 53 แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ระดับ 56.9 บ่งชี้การขยายตัวในภาคการผลิตในไตรมาสที่ 4 เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนต.ค. 53 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 14 เดือนที่ระดับ 9.2 ล้านคันต่อปี สะท้อนกำลังซื้อภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น
Eurozone: mixed signal
  • เงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน ต.ค. 53 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี แต่ยังคงอยุ่ในกรอบเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน ที่ 53.3 การว่างงานเดือนก.ย. 53 คงที่ ที่ร้อยละ 10.1 ของกำลังแรงงาน
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ในเดือนต.ค. 53 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 54.7 บ่งชี้การขยายตัวในภาคการผลิตในไตรมาสที่ 4 จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ
South Korea: improving economic trend
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี จากปัจจัยฐานที่เริ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นผลจากอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 เดือน ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี
Singapore: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 50.7 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.5 จากดัชนีคำสั่งซื้อการส่งออกใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น
Malaysia: improving economic trend
  • การส่งออกในเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนที่ชะลอลง การนำเข้าขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี
India: improving economic trend
  • ธนาคารกลางอินเดียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.00 เป็นร้อยละ 6.25 จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
Hong Kong: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ต.ค. 53 อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 53.0 จากคำสั่งซื้อใหม่ที่ยังขยายตัวได้ดีและยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี
Australia: mixed signal
  • การส่งออกเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 21.7 ต่อปี และการนำเข้าเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวชะลอที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75
Weekly Financial Indicators

นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยในระดับสูงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศทำมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องระยะที่ 2 (Quantitative Easing) ในช่วงกลางสัปดาห์นี้อีกกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเร่งเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรของไทยในวันถัดมาเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 1 เดือนถึง 7,036.53 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยทำสถิติใหม่สูงสุดที่ 1,003.24 จุด (+1.91%) และปิดเหนือ1,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี หลังตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น PMI ของจีนออกมาดีกว่าคาด จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงกดดันจากเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังการดำเนินมาตรการ QuantitativeEasing ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ในสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.47

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ