ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 08:49 —กระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 17 ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายโยชิฮิโกะโนดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเป็นประธานการประชุม ผลการประชุมที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาค โดยได้เน้นความสำคัญต่อการกำหนดแนวนโยบายเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งสมดุลและยั่งยืน ที่ประชุมเห็นว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกแล้ว แต่มีการฟื้นตัวในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการฟื้นตัวที่ดีและรวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีความเสี่ยงในบางประการ อาทิ ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและราคาหลักทรัพย์ การคงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของเศรษฐกิจ และความไม่สมดุลต่างๆ

2. สมาชิกเอเปคยืนยันที่จะสนับสนุนการเปิดตลาดและต่อต้านการกีดกันทางการค้า (Protectionsim) พร้อมกับสนับสนุนข้อสรุปของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ครั้งล่าสุด และจะเสริมสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคีให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระดับภูมิภาค และแต่ละเขตเศรษฐกิจต้องร่วมมือกันที่จะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยลดความไม่สมดุลที่มากเกินไป รวมถึงรักษาระดับความไม่สมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ จะดำเนินการปฏิรูปทางโครงสร้าง และส่งเสริมการสร้างงานต่อไป

3. ที่ประชุมได้เห็นชอบรายงาน “The Kyoto Report on Growth Strategy and Finance” ซึ่งได้จำแนกความสำคัญของการนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล แบ่งออกเป็น การปรับสมดุลของอุปสงค์โลก การบริหารจัดการด้านการคลังที่เข้มแข็ง และการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมแก่ภาคสำคัญต่างๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไปจนถึงโครงการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตสีเขียว โดยที่ประชุมจะนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อหารือภายใต้หัวข้อ APEC Leaders’ Growth Strategy ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

4. ที่ประชุมเห็นว่าเขตเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลควรสนับสนุนให้เกิดการออมภายในประเทศ และปรับลดการขาดดุลการคลังเพื่อให้สู่ระดับสมดุลในระยะปานกลาง ส่วนประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลควรลดการพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก และเน้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคจะดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดย

กลไกตลาด และไม่แข่งขันกันลดค่าเงิน ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าแล้ว ควรระแวดระวังไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากเกินไปหรือเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ

5. ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private-Partnership: PPP)ว่าเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพ บรรเทาความยากจน และปรับปรุงการเข้าถึงระบบการให้บริการทางสังคมให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เริ่มดำเนินโครงการริเริ่ม APEC Financial Inclusion Initiative เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่ภาครัฐจะสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวย้ำว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และการพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานราก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยในด้าน PPP ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาต และเห็นว่า สมาชิกเอเปคควรร่วมกันจัดทำกรอบกฎหมายในเรื่องนี้ เพื่อให้มีขั้นตอนการพิจารณาโครงการ PPP ที่สอดคล้องกัน ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนแล้ว ยังช่วยให้สมาชิกมีกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย ส่วนด้านการพัฒนาแหล่งทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น ได้ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้ว อาทิ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และการสร้างโครงข่ายเงินทุนฐานราก (Microfinance) เป็นต้น จึงสนับสนุนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยองค์กรสำคัญที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความช่วยเหลือใน 2 เรื่องนี้ก็คือ ธนาคารโลก

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งพิจารณาหาแนวทางความร่วมมือทางด้านการเงินในประเด็นต่างๆ อาทิ การสนับสนุนโครงการ PPP และการกำหนดโครงสร้างในการตอบโจทย์เรื่องภาวะโลกร้อน เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยลดภาระด้านงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การชดเชยผ่านระบบประกัน เป็นต้น

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงค์โปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และกรรมการผู้จัดการธนาคารโลก

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02-2739020 ต่อ 3669

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 127/2553 9 พฤศจิกายน 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ