รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 10:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553

Summary:

1. ก.พาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นปี

2. ธ.ก.ส.เผยน้ำท่วมลูกหนี้ได้รับผลกระทบ 5 แสนครัวเรือน

3. คลังเอเปคมองศ.ก.โลกฟื้นตัว ห่วงเงินทุนเคลื่อนย้าย - ค่าเงิน

Highlight:
1. ก.พาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นปี
  • ก.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ กลุ่มปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น สังกะสี กระเบื้องมุงหลังคา ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าออกไปจนถึงสิ้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้างอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ส่งผลต่อความต้องการวัสดุก่อสร้างในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อมาปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี โดยดัชนีในหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี ซึ่งสินค้าสำคัญในหมวดนี้ได้แก่ บานประตู หน้าต่าง วงกบประตู หน้าต่าง ไม้ปาร์เก้ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิเช่น อิฐมอญ อิฐโปร่ง กระจกใส เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น
2. ธ.ก.ส.เผยน้ำท่วมลูกหนี้ได้รับผลกระทบ 5 แสนครัวเรือน
  • รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไปแล้วหลายด้าน เช่น การมอบถุงยังชีพ และการมอบเงินช่วยเหลือผ่านโครงการรัฐช่วยราษฎร์จำนวน 1 ล้านบาท ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาภายหลังน้ำลด ธ.ก.ส.จะสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามความเดือดร้อน สำหรับสถานการณ์ความเสียหายเบื้องต้นของเกษตรกรลูกค้า ณ วันที่ 8 พ.ย. มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 52 จังหวัด เกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นนาข้าว 6,335,868 ไร่ พืชอื่นๆ 1,678,168 ไร่ พื้นที่ประมง 25,477 ไร่ และสัตว์จำนวน 1,374,846 ตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย 2 มาตรการสำคัญคือ มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับความเดือดร้อนโดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่า และมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินโดยอนุมัติความช่วยเหลือแก่ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจผ่านธนาคารต่างๆของรัฐ อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ GDP ในปีนี้หดตัวจากที่ประมาณการไว้เดิมร้อยละ -0.8 ถึง -0.21 ต่อปี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปีในปี 53
3. คลังเอเปคมองศ.ก.โลกฟื้นตัว ห่วงเงินทุนเคลื่อนย้าย - ค่าเงิน
  • การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ที่ประเทศญี่ปุ่น ผลการประชุมที่สำคัญดังนี้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกแล้ว แต่มีการฟื้นตัวในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการฟื้นตัวที่ดีและรวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและราคาหลักทรัพย์ การคงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของเศรษฐกิจ และความไม่สมดุลต่างๆ เขตเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลและเกินดุลควรสนับสนุนให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคจะดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยกลไกตลาด และไม่แข่งขันกันลดค่าเงิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากเงินลงทุนไหลเข้าที่เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมากรวมถึงประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าร้อยละ 11.13 เทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ นับจากต้นปี 53 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าของประเทศที่สำคัญ ดัชนีค่าเงินบาทของประเทศไทย (NEER) เทียบกับค่าเงินสกุลของประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 6.63 ต่อปีนับจากต้นปี 53 ทั้งนี้ นับจากต้นปี 53 ประเทศไทยมีเงินลงทุนสุทธิรวมอยู่ที่ 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอนาคตนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ QE2 ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ