Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553
Summary:
1. ครม.ไฟเขียวเอกชนลงทุนโครงการ PPP รถไฟฟ้าสีม่วง
2. ก.อุตสาหกรรม คาด GDP อุตสาหกรรมปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.5 -5.5 ต่อปี
3. ญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 61 พันล้านดอลลาร์
Highlight:
1. ครม.ไฟเขียวเอกชนลงทุนโครงการ PPP รถไฟฟ้าสีม่วง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.(16 พ.ย.) ที่ประชุมเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP GROSS COST ในงานระบบรถไฟฟ้าและตัวรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 13,243 ล้านบาท โดยเอกชนจะลงทุนงานระบบและตัวรถ ขณะที่รฟม.จะว่าจ้างเอกชนให้ทำหน้าที่เดินรถ ส่วนการเดินรถในเส้นทางช่วง บางซื่อ-เตาปูน ระยะทาง 1 กม.นั้น ที่ประชุมมีมติให้รฟม.ศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้เชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในการให้บริการสาธารณะร่วมกับรัฐบาล (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศในทางเลือกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นการขยายการเข้าถึงบริการของรัฐกับภาคประชาชน และจะเป็นการลดข้อจำกัดด้านงบประมาณการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 มีการระดมทุนผ่านรูปแบบ PPP คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.9 ของงบลงทุน 1,296 พันล้านบาท ซึ่งนับว่ายังน้อยหากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษที่ใช้ประโยชน์จาก PPP มากที่สุด โดยมีสัดสวนการลงทุนสูงถึงร้อยละ 32.6 ต่อวงเงินลงทุนรวม
2. ก.อุตสาหกรรม คาด GDP อุตสาหกรรมปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.5 -5.5 ต่อปี
- กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าได้คาดการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 53 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 12.0-13.0 ต่อปี มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 63-64 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 15.0-16.0 ต่อปี สำหรับปี 54 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 64-66 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 6.0-8.0 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 54 ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งจากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความกังวลต่อปัญหาฟองสบู่ในจีน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 39.0 ของ GDP โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเดือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ HDD ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องประดับเพชรพลอย และรถยนต์
3. ญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 61 พันล้านดอลลาร์
- สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นมีมติผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 61 พันล้านดอลลาร์แล้ว ณ วันที่ 16 พ.ย. 53 เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาเงินฝืด และการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังผ่านกระบวนการพิจารณาจากวุฒิสภา
- สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นยังมีความจำเป็นในการออกมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังมีความเปราะบางอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวถึงร้อยละ -0.6 ต่อปีในเดือน ก.ย. 53 ทั้งนี้ นโยบายด้านการเงินยังมีข้อจำกัด สะท้อนได้จากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปีในเดือน ก.ย.53 อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.4 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ในปี 2553
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th