รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 — 19 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 09:55 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,230.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.3 ของ GDP
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ต.ค. 53 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 207.4 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 129.6 ต่อปี ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 53 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -85.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 98.7
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 42.7 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.6 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี
  • GDP ยูโรโซนไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า
  • GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปีและขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.9
  • GDP สิงคโปร์ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.6 ต่อปี หรือ หดตัวร้อยละ -5.1 จากไตรมาสก่อนหน้า

Indicators next week

 Indicators                       Forecast            Previous
Oct: API (%yoy)                    -1.5                  -0.6
  • ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะมันสำปะหลัง เนื่องจากปัญหาโรคระบาด ศัตรูพืช และปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ผลผลิตข้าว และยางพาราคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน จากปัญหาน้ำท่วมในภาคกลางและภาคอีสานในขณะที่ยางพาราได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกหนาแน่น ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง
Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 53 มีจำ นวนทั้งสิ้น4,230.7 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 36.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.3 ของ GDP ทั้งนี้ การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยลดลงสุทธิ 26.0 6.3 และ 4.2 พันล้านบาทตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ต.ค. 53 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 207.4 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 129.6 ต่อปีเนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 53 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 52 ส่งผลให้เบิกจ่ายได้เฉพาะรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนที่ได้ทำ สัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำ ปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 194.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.4 ของกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 190.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 139.0 ต่อปีและรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 4.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือนต.ค. 53 ได้แก่ รายจ่ายชดใช้เงินคงคลังจำนวน 30.3 พันล้านบาท รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 27.7 พันล้านบาท และรายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 18.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 12 พ.ย. 53 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้น 242.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 69.1 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 53 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -85.0 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -22.9 พันล้านบาทส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำ นวน -107.9 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 16.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -92.0 พันล้านบาท ทำให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับสูงถึง 337.4 พันล้านบาท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 100.8 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มิ.ย. 53 ที่ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 อีกด้วย โดยมีสาเหตุจากเงินบาทที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปี และปัญหาอุทกภัยใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบภัยผลิตสินค้าไม่ทันตามคำสั่งซื้อ รวมถึงผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนอยู่ที่ระดับ 110.1 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.ย. 53 ที่อยู่ที่ระดับ 114.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยยังมีค่าดัชนีฯ สูงกว่าระดับ 100 แต่ยังคงมีสัญญาณว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลกับปัจจัยเสี่ยงในอนาคตที่มีอยู่

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 42.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 46.6 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและ 2) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 35.4 ต่อปี หรือหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่ายังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 15.7 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากการชะลอตัวในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยในแง่มิติสินค้าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 19.6 และ 17.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 13.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวดีที่ร้อยละ 14.9 20.3 และ 19.9 ต่อปี ตามลำ ดับ ทั้งนี้มูลค่าส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่านำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนต.ค. 53 เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 53 เกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 53 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง เนื่องจากปัญหาโรคระบาด ศัตรูพืช และปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ผลผลิตข้าว และยางพาราคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน จากปัญหาน้ำท่วมในภาคกลางและภาคอีสาน ในขณะที่ยางพารา ได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกหนาแน่น ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 72.7 เงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค. 53 อยู่ทีร้อยละ 1.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ายอดสร้างบ้านใหม่เดือน ต.ค. 53 หดตัวร้อยละ -11.7 ต่อปี แต่เร่งขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa)
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อไตรมาส (%qoq_sa) เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมันเป็นสำคัญ การส่งออกเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 23.1 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 21.0 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 114.2 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 53 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี และขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.9 (%qoq_sa) เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 โดยการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของตัวเลขจีดีพี ขยายตัวร้อยละ 1.1 (%qoq_sa) และการใช้จ่ายด้านทุนในภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.8 (%qoq_sa)
Singapore: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.6 ต่อปี หรือ หดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการหดตัวของการใช้สินค้าคงคลัง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออกยังคงสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง การส่งออกในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 19.6 ต่อปี บ่งชี้อุปสงค์จากภายนอกประเทศที่ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
India: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ 8.58 ต่อปี จากดัชนีราคาอาหารและพลังงานที่ลดลงเล็กน้อย สะท้อนแนวโน้มเสถียรภาพทางราคาที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น
South Korea: improving economic trend
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 25 basis point เป็นร้อยละ 2.50 เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
Hong Kong: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการส่งออกโดยรวมที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.3 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากส่งออกไปจีนที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกเชนยังคงเป็นตัวหลักในสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกง โดยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7 ต่อปีสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อย 4.2 ของกำลังแรงงานรวม
Weekly Financial Indicators

ภาวะ Risk aversion จากกระแสข่าวหนี้สาธารณะของรัฐบาลไอร์แลนด์ในช่วงต้นสัปดาห์ได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรของประเทศไทยและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวไปต่ำกว่าระดับ 1,000 จุดซึ่งสอดคล้องกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดพันธบัตรกว่า 15,000 ล้านบาทในช่วง 2 วันแรกของสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์หลังจากที่สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศส่งสัญญาณว่าจะเข้าช่วยเหลือ ดัชนี SET เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและเงินทุนได้เริ่มกลับเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรของไทยอีกครั้ง ทั้งนี้ Yield curve ในสัปดาห์นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.20 ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากภาวะ Risk aversion ข้างต้น ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสกุลเงิน High Yielding ต่าง ๆ และเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจากตลาดมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe haven) อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคจึงส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักโดยเป็นการปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.14

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ