บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง นโยบาย Quantitative Easing ของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย?

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2010 11:16 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

นับจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ในการเข้าซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Back Securities) และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์และแทรกแซงให้ดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับที่ต่ำ อันเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังประสบปัญหาการว่างงานที่สูง

สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบาย QE ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยทำให้ 1) เงินบาทแข็งค่าขึ้นและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. 2) รายได้และความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกลดลง 3) ต้นทุนสินค้านำเข้าถูกลง อย่างไรก็ตาม ด้านการท่องเที่ยววิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมากนัก

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ในระยะสั้น

1. รัฐบาลควรดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อผู้ส่งออก ขณะเดียวกันภาคเอกชนควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ด้วยเช่นกัน

2. ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตในอนาคต

3. ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหรือเร็วเกินไปเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

ในระยะปานกลางและระยะยาว

1. ภาครัฐเร่งเสริมสร้างอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก ผ่านการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงาน

2. ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อลดผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท

3. ภาครัฐเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อติดตาม และร่วมกันบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาค

1. บทนำ

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในลักษณะ Quantitative Easing (QE) เป็นหนึ่งในกลไกที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบปกติ (Conventional Method) ผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องได้ โดยนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในสหรัฐฯ เป็นต้นมา ธนาคารกลางในหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ใช้นโยบาย QE เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่นๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากนโยบาย QE ได้กระทบต่อภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงการใช้นโยบาย QE ของประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆผลกระทบของนโยบาย QE ต่อเศรษฐกิจไทย และนัยเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

2. การใช้นโยบาย QE ของสหรัฐฯ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ได้ดำเนินมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน ในปริมาณที่มากกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 13 ของจีดีพีสหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นมาตรการ QE ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 ถึงกลางปี พ.ศ. 2553 ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. และมาตรการ QE ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2553 เป็นต้นมา

มาตรการ QE ระยะที่ 1 (Q4/2551 — Q3/2553) Fed ได้ใช้มาตรการ QE เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในระบบธนาคารและพยุงราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยได้ให้เงินกู้ระยะสั้นแก่สถาบันการเงินผ่าน Term Auction Facilities กว่า 430 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และได้เข้าซื้อตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Backed Securities) ผ่านโครงการ Term Asset-Backed Securities Loan Facilities (TALF) ส่งผลให้สินทรัพย์ในงบดุลการเงิน ของ Fed ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากระดับประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือน ก.ย. 2551 เป็นระดับประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือน พ.ย. 2553 (ภาพที่ 1) อันเป็นการเพิ่มปริมาณเงิน (High Power Money) ในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.

มาตรการ QE ระยะที่ 2 (Q4/2553 — ปัจจุบัน) แม้ว่ามาตรการ QE ระยะที่ 1 จะได้ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ พ้นจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน โดยจีดีพีของสหรัฐฯ ได้กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2552 ที่ร้อยละ 0.4 จากไตรมากก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคตลาดแรงงานที่ยังคงมีอัตราการว่างงานที่สูงถึงร้อยละ 9.6 กว่า 2 เท่าจากระดับปกติส่งผลให้เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2553 Fed ได้แถลงมาตรการ QE รอบที่ 2 เพิ่มเติมที่จะ 1) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว (Longer-Term Treasury Securities) ในวงเงิน 600 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจะทยอยการซื้อเดือนละ 75 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 2553 ถึง มิ.ย. 2554 และ 2) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพิ่มเติมอีกประมาณ 250 ถึง 300 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากเงินต้นที่ได้รับคืนจากการถือหลักทรัพย์ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาล (Agency Debt) และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับการค้ำประกันโดยหน่วยงานของรัฐ (Agency Mortgaged-Back Securities) ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถืออยู่ในปัจจุบัน โดยจะทยอยการซื้อเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในระหว่างเดือน พ.ย. 2553 ถึง มิ.ย. 2554 เช่นกัน

มาตรการ Quantitative Easing คืออะไร

มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ Quantitative Easing (QE) เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มาตรการ QE ต่างจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบปกติ (Conventional Method) ใน 2 ประเด็น คือ 1) มาตรการ QE จะเพิ่มปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) ผ่านการให้กู้เงิน (Term Auction Credit) แก่สถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Depository Institutes) เช่น Bear Stern และ AIG เพื่อเป็นการช่วยเหลือโดยตรงแก่สถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ด้วยในขณะที่ ตามปรกติธนาคารกลางจะให้กู้เฉพาะแก่ธนาคารพาณิชย์ผ่าน Discount Window 2) มาตรการ QE มีความผ่อนปรณเกี่ยวกับตราสารที่ Fed จะรับซื้อมากกว่านโยบายการเงินปกติกล่าวคือ นอกจากจะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ยังรับซื้อตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Backed Securities) เพื่อผลในการเพิ่มปริมาณเงิน และเพื่อพยุงภาคธุรกิจบางประเภท เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน ในขณะที่ ภายใต้นโยบายการเงินปรกติธนาคารกลางจะรับซื้อพันธบัตรผ่าน Open Market Operation เฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารกลางและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ

กลไกการส่งผ่านของมาตรการ QE ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

มาตรการ QE ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน 2 กลไกการส่งผ่าน ได้แก่

1) ผลกระทบผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยและระบบธนาคารพาณิชย์ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดย Fed ได้ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 1.00 — 1.50 (ภาพที่ 2) ซึ่ง Fed คาดหวังการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำ จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนภายในประเทศผ่านอุปสงคก์ รกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่มากขึ้น (Higher Demand for Loans) นอกจากนี้ การเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นการลดปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนได้คล่องตัวขึ้น (Higher Supply for Loanable Funds) อย่างไรก็ตาม พบว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมามิได้ตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซ้ำยังได้ลดลงต่อเนื่องนับจากเดือน ต.ค. 2551 ถึงเดือน เม.ย. 2553 เป็นต้นมา และยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤตได้

2) ผลกระทบผ่านกลไกอัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบาย QE ของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามจะพบว่าดุลการค้าของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ขาดดุลที่ 131,175 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 95, 224 ล้านดอลลาร์ สรอ.

3. การใช้นโยบาย QE ในประเทศอื่นๆ

นอกจากสหรัฐฯแล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความกังวลต่อภาวะเงินฝืด และข้อจำกัดของนโยบายการคลัง ยังทำให้ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรและธนาคารกลางญี่ปุ่น ต้องใช้นโยบาย QE เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน โดยสรุปมาตรการ QE ของธนาคารดังกล่าวหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ดังนี้

ตารางที่ 1 มาตรการ QE ในต่างประเทศ

ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: Fed)

QE รอบที่ 1

1. ให้เงินกู้ระยะสั้นแก่สถาบันการเงินผ่าน Term Auction Facilities

2. เพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการออกหลักทรัพย์ (Asset Backed Securities) ผ่านโครงการ Term Asset-Backed Securities Loan Facility (TALF)

  • โครงการหลักทรัพย์ที่มีเงินกู้ที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Commercial Mortgage-backed securities) วงเงิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์สรอ. สิ้นสุดโครงการเมื่อ 30 มิ.ย. 2553
  • โครงการหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ สิ้นสุดโครงการเมื่อ 31 ม.ค. 2553

3. รับซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของภาครัฐ

  • โครงการรับซื้อหนี้รัฐวิสาหกิจ (Government-Sponsored Enterprise (GSE) Debt) วงเงิน 1.75 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.
  • โครงการซื้อพันธบัตรระยะยาว วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.

QE รอบที่ 2

วันที่ 3 พ.ย. 2553 Fed ประกาศแผน QE รอบที่ 2 ดังนี้

  • แผนซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Longer-term Treasury Bonds) วงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจะเข้าซื้อเดือนละ 75 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554
  • นำผลกำไรที่ได้จากการลงทุนใน MBS ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งประมาณวงเงินไว้ที่ 2.5 ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจะเข้าซื้อประมาณเดือนละ 35 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2554
  • ณ วันที่ 3 พ.ย. 2553 Fed มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2.303 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 จาก ก.ย. 2551
ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BOE)
  • โครงการรับซื้อสินทรัพย์รัฐบาลและสินทรัพย์เอกชนที่มีคุณภาพสูง วงเงินประกาศที่ 2 แสนล้านปอนด์ โดยได้เริ่มโครงการเมื่อ1 ม.ค. 2552 ซึ่ง ณ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีสินทรัพย์รัฐบาล 1.98 แสนล้านปอนด์ และสินทรัพย์เอกชน 1,566 ล้านปอนด์
  • โครงการดังกล่าว ทำให้สินทรัพย์ของ BOE ได้เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านปอนด์ ณ ธ.ค. 2551 เป็น 2.4 ล้านล้านปอนด์ ณ ต.ค. 2553 หรือเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าตัว
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ)
  • โครงการรับซื้อสินทรัพย์รัฐบาลและสินทรัพย์เอกชน (Asset Purchase and Loan Program) เริ่มโครงการเมื่อ 28 ต.ค. 2553 กำหนดวงเงินที่ 35 ล้านล้านเยน (61.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ระยะเวลาโครงการ 1 ปี โดยมีแผนงานดังนี้
  • รับซื้อสินทรัพย์รัฐบาล: 3.5 ล้านล้านเยน
  • รับซื้อสินทรัพย์เอกชน: 1.5 ล้านล้านเยน
  • ให้กู้ระยะสั้น 3 -6 เดือน ผ่าน Lending Facility Program วงเงิน 30 ล้านล้านเยน
  • โครงการดังกล่าว อาจทำให้สินทรัพย์ของ BOJ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30

ที่มา: รวบรวมโดย สศค.

นโยบาย QE ของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น ได้ส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดเงินเฟ้อที่มากเกินในระยะต่อไป และจะเป็นผลอันตรายต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากไม่สามารถควบคุมหรือดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ (Sterilization Process) 2 ได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที นอกจากนี้ นโยบาย QE ยังได้สร้างปัญหาให้แก่ประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ในปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง เนื่องจากปริมาณเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาจากนโยบาย QE ในประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าว มีการเคลื่อนย้ายไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย

3. ผลกระทบของนโยบาย QE ต่อเศรษฐกิจไทย

นโยบาย QE ของประเทศต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) ภาคการเงิน(Financial Sector) ผ่านการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้นมาก และ (2) ภาคเศรษฐกิจจริง(Real Sector) ผ่านผลกระทบต่อการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ กล่าวคือ

3.1 ผลกระทบต่อภาคการเงิน

เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ.เนื่องจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบาย QE ของสหรัฐฯ จะไหลออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา และมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง อาทิเช่น ไทย ทำให้ปริมาณเงินทุนไหลเข้า (Capital inflow)มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากแผนภาพที่ 5 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2552 และจากการติดตามสถานการณ์เงินทุนที่ไหลเข้านับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 พบว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตรมากกว่าในตลาดทุน ดังแสดงในแผนภาพที่ 6 ซึ่งพบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิถึง 2.76 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4.6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลลดลงอย่างมาก

3.2 ภาคเศรษฐกิจจริง

นโยบาย QE ทำค่าเงินดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกใน 2 ด้าน กล่าวคือ 1) ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลงทันทีเมื่อแปลงเป็นเงินบาท โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก และ 2) ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกลดลง และอาจทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงในระยะต่อไปโดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมาก ทั้งนี้ ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาสามารถพิจาณาได้จากตารางที่ 2 ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนัก (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ณ สิ้น ต.ค. 2553 ซึ่งพบว่าแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 5.5 นับจากสหรัฐฯ เริ่มทำ QE ในเดือน ต.ค. 2551 และร้อยละ 6.6 จากต้นปี พ.ศ. 2553

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าว จะยังไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากยอดการส่งออก ณ ปัจจุบันเนื่องจากสัญญาค้าขายระหว่างประเทศมักจะทำไว้ล่วงหน้า สำหรับผู้นำเข้า การแข็งค่าของเงินบาท จะทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าถูกลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง ก็จะชะลอการนำเข้าสินค้าออกไป ทำให้ประโยชน์จากการนำเข้ายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน

ด้านการท่องเที่ยววิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมากนัก ดังแสดงในภาพที่ 7 พบว่า ในช่วงเดือน ม.ค. — ก.ย. 2553 นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยนั้นร้อยละ 57.4 เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 6.43 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.7 ต่อปี แม้ว่าค่าเงินโดยเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับประเทศไทย

4. บทสรุปและนัยเชิงนโยบาย

การดำเนินมาตรการ QE ในสหรัฐฯ และในอีกหลายประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศของตน ด้วยความหวังว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในระบบ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ QE มากว่า 2 ปี ผลกระทบที่ได้จากมาตรการดังกล่าว กลับมิใช่ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นได้ส่งต่อผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกผ่านปริมาณของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่ามาตรการ QE จะเป็นปัจจัยภายนอกที่ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการดังกล่าว สามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม นอกจากนี้ อาจถือเป็นจังหวะและโอกาสอันดีที่ไทยจะพิจารณาใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า กล่าวคือ

ในระยะสั้น

1. รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการประกันความเสี่ยงได้ หรือมีต้นทุนสูงในการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อยไปแล้ว ผ่านกระบวนการให้สินเชื่อและค้ำประกันของสถาบันการเงินของรัฐ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ด้วยเช่นกัน

2. ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนควรใช้โอกาสจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตในอนาคต

3. ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหรือเร็วเกินไป เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

ในระยะปานกลางและระยะยาว

1. ภาครัฐเร่งเสริมสร้างอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงาน อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศในอนาคต

2. ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีสินค้าคุณภาพที่มีตรายี่ห้อของตนเองแทนการเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูก เพื่อลดผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท

3. ภาครัฐเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อติดตามและร่วมกันบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาค

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ