รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2010 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553

Summary:

1. ก. พาณิชย์เลือก 10 จังหวัด ต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2. 'สุรินทร์'จี้ภาคเอกชนอาเซียนเพิ่มการค้าภายใน สร้างความยั่งยืนของการรวมกลุ่ม

3. เศรษฐกิจเยอรมันในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

Highlight:
1. ก. พาณิชย์เลือก 10 จังหวัด ต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดตัวโครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทย มีความตื่นตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรม และการจัดการธุรกิจในรูปแบบใหม่โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของจังหวัด ทั้งนี้ จะมีการการคัดเลือกเมืองต้นแบบใน 10 จังหวัดจากทั่วประเทศเป็นตัวอย่างและแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่กระทรวงพาณิชย์มีโครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตไปได้อย่างมากในอนาคต ทั้งนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รัฐบาลได้เตรียมการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งได้มีการกำหนดโครงการต่างๆ มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติจำนวน 1,331 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้รวม 1,012 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 76.1 ของกรอบวงเงิน
2. 'สุรินทร์'จี้ภาคเอกชนอาเซียนเพิ่มการค้าภายใน สร้างความยั่งยืนของการรวมกลุ่ม
  • เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการประชุมอาเซียน บิซิเนส ฟอรั่ม ว่า ปัจจุบันอาเซียนค้าขายกับโลก 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีการค้าขายกันเองที่ประมาณร้อยละ 25 ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มความร่วมมืออื่น เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่มีการค้าขายกันเองถึงร้อยละ 60 นาฟตาที่ร้อยละ 48 ดังนั้น คิดว่าถ้าหากอาเซียนจะเติบโตอย่างยั่งยืนต้องค้าขายกันเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ความท้าทายของอาเซียนอยู่ที่การจะเพิ่มการค้าภายในอาเซียนจากการที่ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะภาครัฐมีความตั้งใจให้การค้าขายเพิ่มมากขึ้นแต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าภาคเอกชนไม่ร่วมผลักดันโดยขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า 6 ประเทศ ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0 เป็นจำนวน 99.6 % ของรายการสินค้าทั้งหมด และประเทศอาเซียนใหม่อีก 4 ประเทศ จะลดภาษีเหลือ 0 ในปี 58 ซึ่งเมื่อพื้นที่การค้าเปิดจะทำให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาพร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากข้อตกลงที่สมาชิกอาเซียนร่วมสร้างกันมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในปัจจุบันแม้ว่าคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยคือสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วน ร้อยละ 10.9 ของการส่งออกรวม แต่หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าคู่ค้าอันดับ 1 คือภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนรวมในปี 2552 ร้อยละ 15.1 ของการส่งออกรวม (หรือร้อยละ 16.6 ในช่วง 10 เดือนแรกปี 53 ) ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกปี 53 ไทยมีการส่งออกไปยังอาเซียนขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 43.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการส่งออกรวมที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี
3. เศรษฐกิจเยอรมันในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า
  • สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เศรษฐกิจเยอรมันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อไตรมาส โดยปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ การใช้จ่ายภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อไตรมาสและการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อไตรมาสสศค.วิเคราะห์ว่า
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเยอรมันที่ขยายตัวชะลอลง จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมันมีขนาดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเปราะบาง โดย GDP ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 สามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 23.1 ต่อปี การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 53 และ 54 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ