รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 10:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553

Summary:

1. นายกฯชี้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

2. ธปท. เผยไทยพร้อมออกมาตรการชะลอเงินทุนไหลเข้าเพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท

3. สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของไอร์แลนด์

Highlight:
1. นายกฯชี้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง
  • นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นล่าสุดรวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรง ได้พิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งในระดับพื้นฐานพอสมควร ดังเช่นสภาพัฒน์ได้สรุปตัวเลขจีดีพีตลอดปีที่ร้อยละ 7.9 หากเทียบกับปลายปีก่อนที่คาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นผลจากภาคเอกชนปรับตัวได้ดี และนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการฟื้นตัว ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนยืนยันจะไม่ใช้นโยบายที่ฝืนตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ และสามารถรองรับผลกระทบของการชะลอตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ เนื่องจากการขยายตัวที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับความผันผวนต่างๆได้ เช่น ความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม(กรณีสูง) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงร้อยละ -0.29 ต่อปี จากกรณีฐาน และแม้ความผันผวนของค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกบ้าง แต่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 และปี 54 จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแบบขาดดุลในปี 2554
2. ธปท. เผยไทยพร้อมออกมาตรการชะลอเงินทุนไหลเข้าเพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. รายงานว่า ประเทศไทยจะใช้มาตรการที่หลากหลายสอดคล้องและยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสกัดการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาตรการชะลอเงินทุนไหลเข้า แต่จะไม่ใช้มาตรการที่ส่งผลให้การไหลเข้าของเงินทุนหยุดชะงักทันที เช่น การเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ไทยได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเดือน ต.ค.53 ที่ผ่านมา พบว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย.53 ได้กลับมามีทิศทางที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีมาตรการ โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน ต.ค.53 อยู่ที่ 29.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.53 แต่ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือน พ.ย.53 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้นจากความวิตกกังวลของนักลงทุนที่ยังไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินบาทกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ 29.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.53 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ค่าเงินบาทในระยะยาวจะยังคงอยู่ในทิศทางที่ผันผวนจากปัจจัยภายนอกต่างๆ
3. สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของไอร์แลนด์
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าแสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของไอร์แลนด์ลง 2 ขั้น จากระดับ AA- มาสู่ A และได้ปรับภาพลักษณ์เป็นลบ (Negative Outlook) เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลไอร์แลนด์จะขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) เป็นจำนวนเงินประมาณ 85 พันล้านยูโร (114 พันล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ในการเสริมสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินจำนวน 35 พันล้านยูโร และอีก 50 พันล้านยูโรจะถูกนำไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาวิกฤติหนี้ของไอร์แลนด์เกิดขึ้นจากสถาบันการเงินและการคลัง โดยระบบธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อโดยขาดความระมัดระวังจนเกิดหนี้เสียในระดับสูงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องเข้ามาเพิ่มทุนแก่ธนาคารภาคเอกชน ทำให้รัฐบาลขาดดุลจำนวนมากและความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ส่งผลให้งบประมาณของไอร์แลนด์ในปี 2553 คาดว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นสูงมากถึงประมาณร้อยละ 33 ของ GDP (ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดดุลการคลังสูงที่สุดในยูโรโซน) และเป็นเหตุให้ตลาดการเงินขาดความมั่นใจในความสามารถชำระหนี้ของรัฐบาล ทั้งนี้ เศรษฐกิจของไอร์แลนด์มีภาวะที่หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี 2551 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงมีความเปราะบางอยู่

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ