รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553

Summary:

1. ที่ประชุม ครม. มีมติลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อี 85

2. ม.หอการค้าไทยทำนายปีหน้าค่าบาทอยู่ที่ระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์

3. เศรษฐกิจฟิลิปปินล์ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี

Highlight:
1. ที่ประชุม ครม. มีมติลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อี 85
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมมีมติลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอล 85 % หรือ อี 85 ในอัตรา 3% และลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่ใช้อี 85 เหลือ 60% จากเดิม 80% โดยจำกัดการนำเข้า 2 พันคัน รวมทั้งยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน รถอี 85 อีก 7 รายการ จากเดิมที่อนุมัติไว้ 8 รายการ รวมเป็น 15 รายการ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้เร่งเสนอมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ อี 85 เพื่อส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีปริมาณการใช้น้ำมันอี 85 วันละ 8,000 ลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.2553 ที่มียอดการใช้วันละ 2,500 ลิตร ปัจจุบันมีผู้ใช้รถยนต์ อี 85 จำนวน 2,700 คัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มติดังกล่าวจะส่งผลให้ การลงทุนในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของ E85 เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนจากการนำเข้าส่วนประกอบรถยนต์ลดลง อันเป็นการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี่ ยังเป็นการส่งเสริมการลดมลพิษและการใช้พลังงานทางเลือกแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งนับเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนลงได้ในอนาคต ภายใต้ภาวะการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 54 จะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์ที่ 75.0 ถึง 85.0) (คาดการณ์ ณ ก.ย. 53)
2. ม.หอการค้าไทยทำนายปีหน้าค่าบาทอยู่ที่ระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยระหว่างการสัมมนา เรื่อง “ค้นทางเลือก หาทางรอดกลางวิกฤตธรรมชาติยุคบาทแข็ง” เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออกว่า ในปี 54 คาดว่าค่าเงินบาทอาจแข็งค่าแตะที่ระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบการส่งออกของไทย โดยคาดว่าทั้งปี 53 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 8 ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 10-13 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 53 และทั้งปี 54 จากธนาคารกลางสหรัฐฯใช้มาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ในการเข้าซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Back Securities) และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสำคัญ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยสศค. มองว่าในช่วงที่เหลือของปี 53 ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนค่อนข้างสูงจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะไอร์แลนด์ ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อการบริหารสภาพคล่องและต้นทุนของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 53 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 31.7 ต่อดอลลาร์สหรัฐ และทั้งปี 54 จะอยู่ในช่วงระหว่าง 30.0-31.0 ต่อดอลลาร์สหรัฐ
3. เศรษฐกิจฟิลิปปินล์ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี
  • เศรษฐกิจฟิลิปปินล์ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของผลผลิตภาคเกษตรและการใช้จ่ายภาครัฐ สะท้อนถึงเศรษฐกิจมีสัญญาณแผ่วลงหลังจากการฟื้นตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินล์มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 4.0 ในระยะต่อไปหลังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 52 เป็นต้นมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของ GDP ไตรมาส 3 ปี 53 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 26.2 พันล้านเปโซ และทำให้ GDP ขยายตัวถึงร้อยละ 6.1 (GDP Contribution) อย่างก็ตามเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 52 ที่ร้อยละ -0.5 (% qoq) ในขณะที่ความเสี่ยงในระยะต่อไปคือค่าเงินเปโซเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้เงินโอน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP จากแรงงานที่ทำงานต่างประเทศ เมื่อแลกเป็นสกุลเปโซจะปรับตัวลดลงและจะส่งผลถึงการบริโภคเอกชนในระยะต่อไป ในขณะที่มาตรการเข้มงวดทางการคลังของรัฐบาลจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐในระยะต่อไปมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ