รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 — 26 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2010 09:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • GDP ไทย ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • อัตราการว่างงานข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ก.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (API) ในเดือน ต.ค. 53 หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค.53 หดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa)
  • การส่งออกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี
  • GDP ฟิลิปปินล์ ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี

Indicators next week

 Indicators                       Forecast            Previous
Oct: Iron sales (%yoy)              -7.0                 1.5
  • เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแนวโน้มการลงทุนภายในประเทศเริ่มชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
Nov: Headline inflation (%yoy)       2.8                 2.8
  • สาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณในปีก่อนหน้าที่เริ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัย

หลักมาจากดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 3.5 ประกอบกับดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

Economic Indicators: This Week

GDP ไทยในไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวร้อยละ-0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลหลักจากการขยายตัวของส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิในไตรมาสนี้มีการขยายตัวชะลอลง จากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า ขณะที่เมื่อพิจารณาด้านอุปทานพบว่าภาคเกษตรหดตัวถึงร้อยละ -3.3 ต่อปี ในขณะที่ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.5 และ 10.1 ต่อปีตามลำดับ

อัตราการว่างงานข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ก.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 3.4 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 9.0 หมื่นคน ภาคอุตสาหกรรม 1.1 แสนคน ภาคการเกษตร 2.1 หมื่นคน และผู้ที่กำลังหางานจำนวน 1.3 แสนคนส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.5 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บข้อมูลมา สะท้อนถึงภาวะแรงงานของไทยที่ส่งสัญญาณตึงตัวอย่างชัดเจน

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 53 หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำ คัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และข้าวเนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคกลาง และภาคอีสาน ที่พื้นที่นาข้าวและมันสำปะหลังได้รับความเสียหายมากในขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยางเท่าใดนัก ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี จากผลผลิตสุกร และไก่เนื้อเป็นสำ คัญ ตามราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.7 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ราคาข้าวหดตัวในอัตราชะลอลงมากเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 53 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 53 หดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อ MPI ได้แก่ เครื่องประดับเพชรพลอย และผักผลไม้กระป๋อง สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 64.1 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.4 โดยหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 62.4 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.5 ของกำลังการผลิตรวม

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 53 หดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกหดตัวร้อยละ -8.7 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการที่อยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อภาคการก่อสร้างที่ต้องชะลอการก่อสร้างออกไป ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 53 ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี

Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศในเดือนต.ค. 53 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ1.5 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและแนวโน้มการลงทุนภายในประเทศเริ่มชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี เท่ากับเดือนที่ผ่านมา และนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 สาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณในปีก่อนหน้าที่เริ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำ มันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 3.5 ประกอบกับดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_s a) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อไตรมาส(%qoq_sa) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 พบว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนที่แท้จริงในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) จากรายได้ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. 53 หดตัวร้อยละ -8.1 จากเดือนก่อนหน้า
Eurozone: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 55.5 และ 55.2 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีฯรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 55.4 บ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิตและภาคบริการในไตรมาสสุดท้ายของปี
Japan: mixed signal
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลงประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลงเช่นกันมาอยู่ที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 8.2 แสนล้านเยน
Philippines: improving economic trend
  • GDP ฟิลิปปินล์ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปีขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี เป็นผลมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวร้อยละ -0.45 ต่อปี จากมาตรการเข้มงวดทางการคลังของรัฐบาล แต่หากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 52 โดยหดตัวร้อยละ -0.5 (% qoq) ในขณะที่ความเสี่ยงในระยะต่อไปคือค่าเงินเปโซเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เงินโอน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของGDP จากแรงงานที่ทำงานต่างประเทศ เมื่อแลกเป็นสกุลเปโซจะปรับตัวลดลงและจะส่งผลถึงการบริโภคเอกชนในระยะต่อไป
Taiwan: improving economic trend
  • อัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 53 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่มีปรับตัวดีขึ้น
South Korea: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 110 สะท้อนแนวโน้มการบริโภคที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจได้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
Singapore: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น แรงกดดันจากเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
Weekly Financial Indicators
  • ภาวะ Risk aversion ดำเนินต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความกังวลของตลาดต่อปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลไอร์แลนด์ หลัง Standard & Poor’s ประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือไอร์แลนด์สองระดับเป็น A จาก AA- และประกอบกับความกังวลในการปะทะทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในช่วงกลางสัปห์ดา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวไปต่ำกว่าระดับ 1,000 จุด ในขณะที่การซื้อขายในตลาดพันธบัตรค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนรอดูผลของการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคาแห่งประเทศไทยและมาตรการเก็บภาษีเงินลงทุนจากต่างชาติ
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.53 ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากภาวะ Risk aversion ต่อเนื่องจากสัปห์ดาที่ผ่านมาโดยนักลงทุนยังคงเทขายสกุลเงิน High Yielding ต่าง ๆ และเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจากตลาดมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe haven) อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคจึงส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเป็นการปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.29

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ