รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 2, 2010 10:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2553

Summary:

1. พาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 53 พร้อมลดคาดการณ์ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี

2. กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%

3. ส่งออกของเกาหลีใต้เดือน พ.ย.53 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Highlight:
1. พาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 53 พร้อมลดคาดการณ์ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. 53 ว่า ขยายตัวร้อยละ 0.21 จากเดือนต.ค. 53 แต่สูงขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขระยะ 11 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ส่วนในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2-3.7 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์กำลังกังวลกับปัญหาราคาปาล์มที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความต้องการนำไปผลิตเป็น เอทานอล ดังนั้น จะเสนอปัญหาดังกล่าวให้กับรัฐบาลได้ตัดสินใจว่า จะให้มีการปรับราคาน้ำมันปาล์มชนเพดานหรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ขณะที่ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.21 ต่อเดือน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.03 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1)ดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.95 ต่อเดือน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 2)ดัชนีราคาในหมวดผักและผลไม้ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.61 ต่อเดือน เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกประสบปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0-3.2 ต่อปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี และในปี 54 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี
2. กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้ (1 ธ.ค.53)ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม ผลการประชุมมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเช่นในปัจจุบันมีความจำเป็นน้อยลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจาก กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นโยบายการเงินของสหรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าตลาดเงินยังมีความผันผวนจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป แต่มีมาตรการรองรับที่เป็นรูปธรรม และเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งจากการบริโภคและการลงทุน ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่ง สศค.คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 7.3-7.8) และปี 54 จะขยายตัวใรระดับปกติที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 4.0-5.0 ) โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับฐานต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีความเสี่ยงทำให้เป็นแรงจูงใจให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย
3. ส่งออกของเกาหลีใต้เดือน พ.ย.53 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
  • การค้าเดือน พ.ย. 53 ของเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะที่เกินดุลโดยยอดการส่งออกอยู่ในอัตราลดลงจากเดือนก่อนหน้า จึงคาดว่าการส่งออกในปี 54 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากผลของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีนที่ลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง นอกจากนี้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้มีนโยบายที่จะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงเดือน ม.ค. - ก.พ.54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 24.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.6 ต่อปี ผลจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปชะลอลงเนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งออกในปัจจุบันจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง แต่ในอนาคตก็ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index) ของเกาหลีใต้ในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 50.23 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 46.75 ซึ่งแสดงถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ