Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2553
1. สสว. เผยช่วง 9 เดือนแรกปี 53 ธุรกิจเอสเอ็มอีที่จัดตั้งขึ้นใหม่ขยายตัวร้อยละ 21.4 ต่อปี
2. ม.หอการค้าคาด GDP ปี 54 โตร้อยละ 4.2 ต่อปี บริโภค-ลงทุนหนุนเศรษฐกิจ
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
- ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 38,324 ราย หรือขยายตัวร้อยละ 21.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพื่อรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องผู้บริโภคทั้งจากในและต่างประเทศเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกิจการนันทนาการ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจ และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเอสเอ็มอีดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณการชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวเร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงเป็นแรงส่งให้ผลการประกอบการของธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงดังกล่าวขยายตัวเร่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง ผนวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณชะลอลง ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่า ในปี 53 และปี 54 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.3-7.5 ต่อปี) และ ร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 ต่อปี) (คาดการณ์เมื่อ ก.ย. 53)
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาด GDP ไทยปี 54 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปีหรือในช่วง 4.0 — 4.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวไม่โดดเด่นที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือการเมืองและเศรษฐกิจโลก
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากการประมาณการ ณ เดือนก.ย. 53 เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะกลับมาขยายตัวในระดับปกติที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี)โดยมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าและบริการในปี 54 ที่น่าจะยังคงขยายตัวได้ แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเนื่องจากฐานที่สูงในปี 53 ในขณะที่เสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศยังคงแข็งแกร่งอย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับราคาส่งออก-นำเข้า ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ สศค. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 54 ในช่วงปลายเดือนธ.ค.53 ที่จะถึงนี้ได้
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM Manager Index) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 56.6 จากระดับ 56.9 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงการขยายตัวในภาคการผลิต ในขณะที่ ADP employment survey ซึ่งวัดการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 93,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 50
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯมีทิศทางที่แผ่วลงสะท้อนได้จากดัชนีองค์ประกอบของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด โดย 1) ดัชนีการผลิต (Production Index) ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55 จาก 62.7 ในเดือนก่อนหน้า และ 2) ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (New Order Index) ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 56.6 จากระดับ 58.9 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ขยายตัวชะลอลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐทั้งปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th