รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 7, 2010 11:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2553

Summary:

1. ดีเดย์ประชานิยมฉลองปีใหม่ รัฐประกาศมาตรการแก้ปัญหาค่าครองชีพ

2. กนง. ชี้ราคาน้ำมันขาขึ้น เสี่ยงต่อเงินเฟ้อ พาณิชย์เตรียมตรึงราคาสินค้าต่ออีก 3 เดือน

3. การจ้างงาน (Non-farm Payroll) ของสหรัฐฯเดือน พ.ย. 53 เพิ่มขึ้นที่ 39,000 ตำแหน่ง

Highlight:
1. ดีเดย์ประชานิยมฉลองปีใหม่ รัฐประกาศมาตรการแก้ปัญหาค่าครองชีพ
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในวันที่ 17 ธ.ค. 53 รัฐบาลจะประกาศนโยบายดูแลค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ปรับโครงสร้างก๊าซแอลพีจีโดยแยกราคาระหว่างภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม การนำกฏหมายการแข่งขันทางการค้าเข้ามากำกับดูแลราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนแท้จริงเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องบริโภคสินค้าจำเป็นที่มีราคาแพงเกินจริง และการนำแรงงานนอกระบบใน 6 อาชีพหลักคือ คนขับแท็กซี่, จักรยานยนต์รับจ้าง, หาบเร่แผงลอย, คนทำ งานกลางคืนให้เข้าถึงระบบสินเชื่อและประกันสังคม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันแรงงานของไทยกว่า 2 ใน 3 เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการทั้งสุขภาพและรายได้ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพสังคมและเศรษฐกิจ โดยจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของ GDP นอกจากนี้ มาตรการแยกราคาก๊าซแอลพีจีเป็น 2 ตลาด จะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าไปอุดหนุนจำนวนปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีปริมาณการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 2 แสนตัน 5.5 หมื่นตัน และ 6.5 หมื่นตันต่อเดือนตามลำดับ รวมทั้งสิ้นกว่า 3.2 แสนตันต่อเดือน ซึ่งเม็ดเงินที่สามารถประหยัดได้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถนำไปอุดหนุนในพลังงานทางเลือกอื่นๆเช่น น้ำมัน E20 และ E85 ได้ต่อไป
2. กนง. ชี้ราคาน้ำมันขาขึ้น เสี่ยงต่อเงินเฟ้อ พาณิชย์เตรียมตรึงราคาสินค้าต่ออีก 3 เดือน
  • คณะกรรมการกนง.ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน แต่คลายกังวลเงินคิวอี 2 ของสหรัฐ ขณะเดียวกันยังคงมีเงินไหลเข้ามาในเอเชียมากอย่างที่กังวล ทั้งนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันยังทะยานขึ้นต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันดิบไลท์ และเบรนท์ทะเลเหนือ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัดทั้งในยุโรป ประกอบกับสหรัฐยังมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ต่อเงินสกุลหลักๆ จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อเงินเฟ้อ และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี เรื่องขยายเวลามาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคออกไปอีก 3 เดือนถึงสิ้น มี.ค. 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบแหล่งต่างๆ มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวที่ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยังคงตึงตัว เกิดความไม่สมดุลในอุปสงค์และอุปทาน ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ Dubai ตั้งแต่ต้นปี 53 จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ขยายตัวเร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 61.4 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ส่วนในปี 54 สศค.ประมาณการราคาน้ำมันดิบ Dubai อยู่ที่ 80 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 53 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างจีนและอินเดีย อย่างไรก็ดีการขยายอายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อในปี 54 ลงได้
3. การจ้างงาน (Non-farm Payroll) ของสหรัฐฯเดือน พ.ย. 53 เพิ่มขึ้นที่ 39,000 ตำแหน่ง
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payroll) ของสหรัฐฯเดือน พ.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 39,000 ต่ำแหน่ง เพิ่มขึ้นในระดับที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 172,000 ต่ำแหน่ง โดยการเพิ่มขึ้นมาจากการจ้างงานในภาคเอกชนที่ 50,000 ตำแหน่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าการจ้างงานในภาครัฐบาลที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 11,000 ต่ำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 53 ปรับตัวเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 ที่ระดับร้อยละ 9.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดการจ้างงานของสหรัฐฯยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนได้จากการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ไม่เพียงพอในการลดอัตราการว่างงานให้อยู่ในระดับต่ำได้ ซึ่งการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงได้ส่งผลให้อัตราค่าจ้างขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.2 ต่อปี ในช่วงต้นปี 51 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ในเดือน พ.ย. 53 ซึ่งการขยายตัวลดลงถึงครึ่งหนึ่งของค่าจ้างนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการบริโภคของภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP ทั้งนี้สศค. คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ