บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง มองต่างมุม การส่งออกนำเข้าทองคำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 11:03 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อไทย โดยจะเห็นได้ว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2552 การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวลงมาก เมื่อพิจารณาปัจจัยราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ค้าทองคำในไทยหันมาส่งออกทองคำมากขึ้น
  • การส่งออกทองคำในแต่ละเดือนจะมีมูลค่ามากหรือน้อย เป็นผลจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท ซึ่งปัจจัยหลักจะเป็นราคาทองคำในตลาดโลก สำหรับค่าเงินบาทนั้น เริ่มมีผลกระทบมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2553 ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • นับตั้งแต่ปี 2548 ประทศไทยมีการสะสมทองคำคงเหลือไว้เป็นปริมาณมาก กล่าวคือ มีการนำเข้าทองคำในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกลดลง และส่งออกทองคำในขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีระดับทองคำที่สะสมตั้งแต่ปี 2546 เฉลี่ยสูงถึง 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกทั้งการสะสมทองคำคงเหลือยังมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ GDP ไทยในไตรมาส 1 และ 3 ปี 2553 ขยายตัวอีกด้วย
  • การขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกไปยังออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง บางส่วนเป็นผลจากการส่งออกทองคำ ดังนั้น หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกรวมไปยังตลาดใหม่เหล่านี้ เราอาจจะเห็นผลที่ไม่ชัดเจน และอาจบิดเบือนการประเมินความสำเร็จในการเปิดตลาดใหม่ได้
  • การเกินดุลการค้าจากการส่งออก-นำเข้าทองคำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในแง่ค่าเงินบาท โดยดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ ในภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
  • การส่งออกทองคำ ถึงแม้จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในการวิเคราะห์ภาพรวมของการส่งออกที่แท้จริงแล้ว เราควรหักทองคำออกจากการคำนวณมูลค่าและปริมาณส่งออก ตลอดจนดุลการค้าเพื่อให้มองภาพการส่งออกสินค้าได้ชัดเจนขึ้น
1. บทนำ

วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีจุดเริ่มต้นจากภาคการเงินในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก ตลอดจนโครงสร้างการส่งออกของไทย โดยความผันผวนที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนตลอดจนนักเก็งกำไรหันมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อันได้แก่ ทองคำและน้ำมันดิบกันมากขึ้น โดยเฉพาะทองคำ ซึ่งนอกจากจะเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวเอง ต่างจากตราสารอนุพันธุ์ (derivative securities) ซึ่งเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 เป็นต้นมา ก่อนจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้ง่าย ทำให้ราคาทองคำนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 พุ่งสูงขึ้นมาก สวนทางกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่เริ่มซบเซา

เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะเห็นได้ว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2552 การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวลงมาก เนื่องจากผลทางรายได้ (income effect) ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ดูได้จาก GDP ของตลาดส่งออกหลักของไทย อันได้แก่กลุ่มประเทศ G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ที่หดตัวลงมากในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2552 อีกทั้งเมื่อพิจารณาปัจจัยราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ค้าทองคำในไทยหันมาส่งออกทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ทองคำเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจในระดับต่ำ มูลค่าการส่งออกรวมที่สูงขึ้นจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นจึงไม่สามารถบ่งชี้ถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะภาคการผลิตได้

2. สถานการณ์การส่งออกทองคำนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นต้นมา

การส่งออกทองคำในแต่ละเดือนนั้น จะมีมูลค่ามากหรือน้อย เป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท ภาพที่ 3 แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและนำเข้าทองคำกับราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะมีการเร่งส่งออกทองคำ เช่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ไทยมีการเร่งส่งออกทองคำสูงถึง 1,865 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในเดือนกันยายน 2552 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคาทองคำในตลาดโลกสูงเกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ไทยได้เร่งส่งออกทองคำมูลค่า 1,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ในทางกลับกัน เมื่อราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังจากที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะมีการเร่งนำเข้าทองคำเช่นกัน เช่น ในเดือนสิงหาคม 2551 ราคาทองคำปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ไทยจึงมีการเร่งนำเข้าทองคำมูลค่า 984 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ราคาทองคำปรับลดลง หลังจากเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันถึง 5 เดือน ไทยนำเข้าทองคำมูลค่าสูงถึง 1,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออก-นำเข้าทองคำของไทยกับราคาทองคำในตลาดโลกนี้ เป็นไปตามหลักอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าทั่วไป

นอกจากจะพิจารณาราคาทองแล้ว ยังจะต้องพิจารณาค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอีกด้วย เพราะการแข็งค่าและอ่อนค่าของค่าเงินบาทส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาส่งออกและนำเข้าทองคำในรูปบาท ภาพที่ 4 แสดงความสัมพันธ์ถึงการส่งออกและนำเข้าทองคำกับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ราคาส่งออกและนำเข้าทองคำในรูปบาทถูกลง ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกและนำเข้าทองคำสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในช่วงกลางปี 2551 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ราคาส่งออกและนำเข้าทองคำในรูปเงินบาทลดลงเรื่อยมาเมื่อเทียบกับราคาทองคำในรูปดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากวิกฤตการเงินโลก หลายๆประเทศทั่วโลกได้ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตนหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นผลสำเร็จในประเทศแถบเอเชีย ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในแถบตะวันตกฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดตราสารหนี้ อีกทั้งการเกินดุลการค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากภาพที่ 5 จะเห็นได้ว่า ในเดือนสิงหาคม 2553 ราคาทองเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 6.1 ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.1 ทำให้ราคาส่งออกนำเข้าทองคำขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ในปัจจุบันที่ค่าเงินมีความผันผวน นอกจากราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว ค่าเงินบาทที่ได้รับแรงกดดันจากเงินทุนที่ไหลเข้าจะมีผลต่อราคาส่งออกและนำเข้าทองคำมากขึ้น

3. เจาะลึกทองคำ

ถึงแม้การส่งออกทองคำจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยในช่วงปี 2552 — 2553 มีการขยายตัวในระดับสูงก็ตาม แต่ผลจากการส่งออกทองคำมีความแตกต่างจากการส่งออกสินค้าอื่นๆ ดังนี้

  • การสะสมสต็อกทองคำ

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการสะสมทองคำคงเหลือไว้เป็นปริมาณมาก เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าทองคำในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกลดลง และส่งออกทองคำในขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ทำให้ปริมาณสะสมทองคำเฉลี่ยในปี 2548 มีมูลค่าสูงถึง 2,417 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นมากจากปี 2546 ที่มีระดับเฉลี่ย 84.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตาม ภาพที่ 6 แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าทองคำมากกว่าการส่งออก ทำให้มีปริมาณทองคำคงค้างในประเทศเป็นจำนวนมาก และในปี 2552 ไทยส่งออกทองคำมากกว่านำเข้า ปริมาณทองคำคงเหลือจึงลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีการนำเข้าทองคำเป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวน เราอาจได้เห็นการส่งออกทองคำจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าและบริการประเภทอื่นได้ ดังจะกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสต๊อกทองคำส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลัง (change in stock) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคำนวณ GDP ด้านอุปสงค์ จากภาพที่ 7 จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่มีการนำเข้าทองคำสูง จะส่งผลให้สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มาหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีได้ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสต๊อกทองคำกับการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลัง มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) อยู่ที่ 0.73 ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในระดับสูง ดังนั้น การวิเคราะห์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากพิจารณาอัตราการขยายตัวซึ่งอาจมีที่มาจากการเปลี่ยนของสินค้าคงคลังซึ่งอาจมีผลมาจากการนำเข้าทองคำแล้ว เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของการขยายตัวว่าเศรษฐกิจไทยในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจจริง ว่าแข็งแกร่งหรืออ่อนแอในภาคส่วนใด เพื่อที่จะวางแผนและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างตรงจุด

  • การส่งออกไปยังตลาดใหม่

นับตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา การส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม G3 มีการหดตัวที่รุนแรง และปัจจุบันก็ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง จึงมีการเร่งเปิดตลาดใหม่ โดยเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่น้อยกว่า อาทิเช่น ทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกไปยังออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง บางส่วนเป็นผลจากการส่งออกทองคำ เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นประเทศศูนย์กลางการค้าทองคำ ดังนั้น หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกรวมไปยังตลาดใหม่เหล่านี้ เราอาจจะเห็นผลที่ไม่ชัดเจน และอาจบิดเบือนการประเมินความสำเร็จในการเปิดตลาดใหม่ได้ ซึ่งจากภาพที่ 8 จะเห็นได้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังฮ่องกงและออสเตรเลียที่รวมทองคำและหักทองคำออกในไตรมาส 1 ปี 2552 และไตรมาส 2 ปี 2553 มีความผันผวนมาก จากการเร่งส่งออกทองตามราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น

  • ดุลการค้าที่ไม่รวมทองคำ

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ดุลการค้าของไทยเกินดุลในระดับสูงมาก ซึ่งในปี 2552 ไทยเกินดุลการค้า (ตามระบบกรมศุลกากร) กว่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวโน้มการเกินดุลในแต่ละเดือนมีความผันผวนสูง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาโดยหักผลของการส่งออก-นำเข้าทองคำออก ดังปรากฏในภาพที่ 9 จะเห็นได้ว่า การเกินดุลการค้าในแต่ละเดือนมีแนวโน้มที่คงที่กว่า ซึ่งดุลการค้าที่หักทองคำแล้ว มีมูลค่าเพียง 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าดุลการค้ารวมเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเกินดุลการค้าที่เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยอ้อมผ่านการแข็งค่าของเงินบาท กล่าวคือ ดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการ ในภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย

4. สรุปและแนวนโยบาย

การส่งออกทองคำ ถึงแม้จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในการวิเคราะห์ภาพรวมของการส่งออกที่แท้จริงแล้ว เราควรหักทองคำออกจากการคำนวณมูลค่าและปริมาณส่งออก ตลอดจนดุลการค้า เพื่อให้มองภาพการส่งออกสินค้าได้ชัดเจนขึ้น ว่าขณะนี้อุตสาหกรรมใดเป็นหัวใจสำคัญของการส่งออกของไทย ตลอดจนการวิเคราะห์การส่งออกรายตลาดควรมีการวิเคราะห์โดยหักทองคำออกจากมูลค่ารวมอีกด้วย เพื่อให้สามารถประเมินสถานะและความสำเร็จของการเปิดตลาดส่งออกใหม่ของไทย เพื่อให้ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยควบคู่ไปกับอุปสงค์ภายในประเทศได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังควรมีการจำกัดการส่งออกนำเข้าทองคำเพื่อลดการเก็งกำไร ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท หากมีการเร่งส่งออกทองคำในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในภาคเศรษฐกิจจริงได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ