รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 17 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 10:54 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ 2.0 ล้านล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน พ.ย.53 อยู่ที่ระดับ 99.7 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 70.3
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ย. 53 มีจำนวน 1.47 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพ.ย. 53 มีจำนวน 33,594 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 39.7 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีจำนวน 45,280 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 37.3 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า หรือร้อยละ 7.7 ต่อปี
  • GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปีหรือร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง)
  • อัตราเงินเฟ้อจีนเดือน พ.ย. 53 สูงที่สุดในรอบ 28 เดือนที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี

Indicators next week

 Indicators                       Forecast            Previous
Nov: API (%yoy)                     -2.0                -5.8
  • ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลังเนื่องจากปัญหาโรคระบาด ศัตรูพืช และปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ผลผลิตข้าว และยางพาราคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน จากปัญหาน้ำท่วมในภาคกลางและภาคอีสาน ส่วนยางพาราได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกหนาแน่น ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง
Economic Indicators: This Week

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ 2.0 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า จากเงินฝากและเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มากกว่าสินเชื่อ ซึ่งหากวิเคราะห์ด้านของเงินฝากจะพบว่า เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หักปัจจัยางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์นำผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษออกมาสร้างแรงจูงใจในการออมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ในช่วงดังกล่าวได้ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินกู้ยืมจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาทจากเดือนก่อนหน้าในขณะที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากความต้องการสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง ตามเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 99.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.7 โดยตัวเลขดัชนีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่องหลังสถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติ และความกังวลในปัญหาทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ที่มีระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับไม่ดีนัก สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 113.6 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 110.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 53 มีจำนวน 1.47 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี หรือร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล(m-o-m SA) โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชีย ได้แก่ อินเดีย เกาหลี และจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 63.2 47.8 และ 17.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มยุโรปมีการขยายตัวโดยเฉพาะจากรัสเซียที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 55.1 ต่อปี ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยนับจากต้นปีมีจำนวนทั้งสิ้น 14.04 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปีสะท้อนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 70.3 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ระดับ 71.6 โดยได้รับผลกระทบจาก 1) ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเกษตร 2) ความกังวลจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 3) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี (หรือขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า)เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาน้ำ ท่วมสูงหลายพื้นที่ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. 53 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจากรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพ.ย. 53 มีจำนวน 33,594 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 39.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 42.7 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และ 2) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 53 มีจำนวน 45,280 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 37.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 29.6 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชัดเจน มากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกและความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 53 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.8ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำ คัญ โดยเฉพาะมันสำ ปะหลังเนื่องจากปัญหาโรคระบาด ศัตรูพืช และปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ผลผลิตข้าว และยางพาราคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกันจากปัญหาน้ำท่วมในภาคกลางและภาคอีสาน ส่วนยางพารา ได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกหนาแน่น ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง

Global Economic Indicators: This Week

USA: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) หรือขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี โดยยอดขายไม่รวมรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) จากยอดขายน้ำมันเชื่อเพลิงและยอดขายของห้างสรรพสินค้าเป็นสำคัญอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. 53 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี แต่หากปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) จากราคาตั๋วเครื่องบิน ค่าเช่าบ้าน ยารักษาโรคที่เพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ
Eurozone: mixed signal
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) หรือขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศเยอรมันนีเป็นสำคัญ
Japan: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 5.3 ต่อปีหรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa)เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกเป็นสำคัญ ประกอบกับการปรับตัวเลข GDP ที่ทำให้ฐานในปีก่อนหน้าต่ำลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ (Tankan Big Mfg Index) ไตรมาส 4 ปี 53 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส มาอยู่ที่ระดับ 5.0 สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 54 ที่จะแย่ลง
China: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 53 สูงที่สุดในรอบ 28 เดือนที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี จากราคาอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 13.3 ต่อปี จากผลผลิตน้ำมัน รถยนต์และซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น การลงทุนสินทรัพย์ถาวร 11 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่24.9 ต่อปี ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 18.7 ต่อปี
India: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี
South Korea: improving economic trend
  • อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการส่งออก และการก่อสร้าง สะท้อนภาคการบริโภคที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในระยะต่อไป
Australia: improving economic trend
  • การจ้างงานเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 54,600 คน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 (%mom_sa) สาเหตุสำคัญมาจากการจ้างงานในอุสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงานอันเนื่องมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าว สอดคล้องกับอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. 53 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม จากเดือนก่อนหน้าที่อยูที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม
Weekly Financial Indicators
  • ตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรในสัปดาห์นี้ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยส่วนหนึ่งนักลงทุนยังรอดูสถานะการณ์หนี้สาธารณะของยุโรปหลังจากที่มีข่าวว่า Moody’s กำลังทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนประกอบกับยังไม่มีปัจจุยหนุนตลาดที่ชัดเจนส่งผลให้ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ค่อนข้างทรงตัวในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขายออกของนักลงทุนซึ่งคาดว่าทิศทางดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงที่ร้อยละ 0.20 สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นของภูมิภาคส่วนใหญ่ ตามความวิตกกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะของยุโรปที่ส่งผลให้ตลาดชะลอการลงทุนแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ประกาศออกมาในสัปดาห์นี้หลายตัวจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาท(NEER)ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.16 จากการที่บาทอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลคู่ค้าหลักอาทิดอลลาร์สรอ.ยูโรและเยน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ