ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤศจิกายน 2553 และช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 09:20 —กระทรวงการคลัง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าเป้าหมาย 1.7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 9.6

เดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 144,622 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,128 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้การจัดเก็บภาษีส่วนใหญ่สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,824 ล้านบาท นอกจากนี้การที่เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้มีการนำเข้ารถยนต์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตสุราและยาสูบคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจึงเร่งชำระภาษี

ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บ รายได้สุทธิ 268,268 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 เป็นผลจากการจัดเก็บ ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรที่สูงกว่าประมาณการ 18,485 4,432 และ 620 ล้านบาท ตามลำดับ

นายนริศฯ สรุปว่า “จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้ม การจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ผ่านมาทำให้เชื่อมั่นว่าปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน”

เอกสารแนบ

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤศจิกายน 2553

และช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 144,622 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,128 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 รายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ 268,268 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.6) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 144,622 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,128 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บภาษีโดยรวมสูงกว่าเป้าหมายในอัตราค่อนข้างสูง ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้มีการนำเข้ารถยนต์เป็นจำนวนมาก ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และอากรขาเข้า จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,824 3,298 2,195 และ 1,118 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.8 7.9 39.9 และ 14.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาษีเบียร์ภาษีสุรา และภาษียาสูบ ยังจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 12.8 9.1 และ 7.1 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจึงเร่งชำระภาษี

2. ช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 268,268 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.6) โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บสูงกว่าประมาณการ 23,537 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.7

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 179,762 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,485 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.1) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ 11,586 และ 4,056 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 และ 4.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 12.6 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.4

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 68,810 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.0) เป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งรถในประเทศยังมียอดจำหน่ายในระดับสูง ทำให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่า ประมาณการ 3,267 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.0 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตสุราและยาสูบ คาดว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีเบียร์ ภาษีสุรา และภาษียาสูบจึงมีการเร่งชำระภาษี ส่งผลให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวได้สูงกว่าประมาณการ 680 674 และ 109 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 9.6 และ 1.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขนส่งคมนาคมลดลง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ 560 ล้านบาท

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 16,700 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 620 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 723 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 อย่างไรก็ดี การขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าเริ่มชะลอตัวลงจากปีงบประมาณ 2553 ทั้งในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ และในรูปเงินบาทซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 30.3 และ 23.3 ตามลำดับ โดยในเดือนตุลาคม 2553 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับร้อยละ 13.5 ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปเงินบาท เท่ากับร้อยละ 3.6

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 23,706 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,772 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.5) เป็นผลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ การไฟฟ้านครหลวงนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 สูงกว่าประมาณการ 2,039 และ 1,379 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทยอยนำส่งรายได้จำนวน 3,545 ล้านบาท ออกเป็น 3 งวด โดยเริ่มชำระงวดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2553 จำนวน 1,000 ล้านบาท (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่ง 2,923 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2553) และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 803 ล้านบาท

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 18,460 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 467 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) เนื่องจากจัดเก็บรายได้จากกิจการสัมปทานปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ 459 ล้านบาท

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 35,472 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,051 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 29,398 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่น 6,074 ล้านบาท

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0 2273 9020 ต่อ 3500 และ 3566

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 146/2553 20 ธันวาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ