รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 24, 2010 12:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2553

Summary:

1. สสว. ประกาศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีภาคเหนือ และภาคใต้ปรับตัวลดลง

2. ธปท. มั่นใจยอดปล่อยสินเชื่อแบงก์ในปี 54 จะขยายตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ

3. เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณการขยายตัวเปราะบางอย่างต่อเนื่อง

Highlight:
1. สสว. ประกาศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีภาคเหนือ และภาคใต้ปรับตัวลดลง
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตเอสเอ็มอีรายภูมิภาค โดยพบว่าความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอีในภาคเหนือและภาคใต้ลดลง เพราะผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ไม่ว่าจะเป็นยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน ประกอบกับความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวโดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตเอสเอ็มอีในภาคใต้ลดเหลือ 43.73 จากเดิม 51.56 ส่วนภาคเหนือลดเหลือ 38.9 จากเดิม 39.8 ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น เพราะการบริโภคฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผนวกกับค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคการผลิตดังกล่าวปรับตัวดลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดียวกัน โดยในเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 98.7 และ 71.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับลดลงของดัชนีดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราว โดยจากการที่ปัญหาภัยน้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลง ผนวกกับการที่เศรษฐกิจไทยทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 54 ทำให้คาดว่าดัชนีดังกล่าวจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
2. ธปท. มั่นใจยอดปล่อยสินเชื่อแบงก์ในปี 54 จะขยายต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ
  • นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปีหน้า เชื่อว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มปรับลดลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4% ส่วนความกังวลที่ว่าธนาคารพาณิชย์จะขาดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อนั้น นายเกริก กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน พ.ย. 53 ที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะยอดการส่งออก ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู้ค้าที่สำคัญของไทยที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภคในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองในระยะต่อไป คือการขยายตัวของสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 53 พบว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 จากต้นปีสูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โดยรวมที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 จากต้นปี
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณการขยายตัวเปราะบางอย่างต่อเนื่อง
  • ยอดขายบ้านของสหรัฐฯประจำเดือน พ.ย. ที่ประกาศออกมาที่ระดับ 4.68 ล้านหลังต่อปี (Annualized rate) ต่ำกว่าระดับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะประกาศออกมาที่ระดับ 4.75 ล้านหลังต่อปี (Annualized rate) และตัวเลข GDP ของไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯที่ได้มีการ revised นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.6 (Q-o-Q annualized) จากระดับที่ร้อยละ 2.5 ที่ประกาศเบื้องต้นในเดืนอก่อนหน้าแต่ต่ำกว่าระดับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะได้รับการ revised ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 (Q-o-Q annualized) บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับที่เปราะบาง ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯและ Fed จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่านการขยายเวลาการคงระดับภาษีที่ระดับต่ำและมาตรการ Quantitative Easing (QE) ในระยะต่อไปเป็นมูลค่าถึง 600 พันล้านดอลลาร์สรอ. เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐให้ออกจากภาวะการชะลอตัว ซึ่งมาตรการ QE อาจส่งผลกระทบให้เงินดอลลาร์สรอ. อ่อนค่าลงและอาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาในประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 54 ทั้งปีจะสามารถขยายตัวได้ในระดับที่ 2.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ