รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553 และ 2554 “เศรษฐกิจไทยปี 53 คาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 7.8% และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 54”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 08:44 —กระทรวงการคลัง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2553 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ปรับตัวดีขึ้นมากจากปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี ซึ่งประมาณการครั้งนี้สูงกว่าประมาณการ ณ เดือนกันยายน 2553 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 สะท้อนภาพรวมทางเศรษฐกิจในปี 2553 ที่ถือว่าขยายตัวได้ในระดับสูงมาก โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ขยายตัวในอัตราที่สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ราคาพืชผลสำคัญปรับตัวสูงขึ้น และการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออก สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้เดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 คาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 4.4 ของ GDP เกินดุลลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทำให้มูลค่านำเข้าสินค้ามีการเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37.5 ต่อปี เทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 28.3 ต่อปี”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า “ในปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0) ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้ ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.5 ต่อปี) โดยมีแรงกดดันที่สำคัญมาจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ และราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าในปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ร้อยละ 3.6 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 — 4.1 ของ GDP) โดยมูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2 — 14.2 ต่อปี) และมูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.6 — 15.6 ต่อปี)”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2553 และ 2554 (ณ เดือนธันวาคม 2553)

                                                                2552      2553 f            2554 f

                                                                           เฉลี่ย      เฉลี่ย         ช่วง
                          สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  -0.2      4.5       3.3       3.1 — 3.6
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)                          61.3      78.2       83      78.0 — 88.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                        0.3      9.1        6        5.0 — 7.0
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       -2.5       8        5.8       4.8 — 6.8
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)                               34.3      31.7      29.5     28.5 — 30.5
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       1.25       2         3       2.50 — 3.50
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.47      2.52      2.64     2.63 — 2.66
                        ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                            -2.3      7.8       4.5       4.0 — 5.0
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         0.1      4.9       4.7      4.2 — 5.2
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    -1.1      4.8       4.9       4.4 — 5.4
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        7.5      5.3       3.4       2.9 — 3.9
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         -9.2      11.1      8.7       7.7 — 9.7
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    -13.1     15.1      11.3     10.3 — 12.3
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                         2.7      0.5       4.2       3.2 — 5.2
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                -12.5     15.1      6.4       5.4 — 7.4
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                -21.5     22.1      8.1       7.1 — 9.1
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                                    19.3      12.7      11.7     10.7 — 12.7
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                          -14.3     28.3      13.2     12.2 — 14.2
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                           -24      37.5      14.6     13.6 — 15.6
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                               20.2       14       13.1     12.7 — 16.2
  - ร้อยละของ GDP                                                  7.7      4.4       3.6       3.1 — 4.1
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละ)                                        -0.9      3.3       3.5       3.0 — 4.5
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละ)                                       0.3      0.9       2.5       2.0 — 3.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          1.5      1.1       1.1       1.0 -1.2

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553 และ 2554

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2553

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้วมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายน 2553 โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่คาดว่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.1 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศเกิดใหม่ ในขณะที่ภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้นจากปีก่อน และเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี ตามภาวะการจ้างงานและรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง ในขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.1 ต่อปี สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายสาขาอุตสาหกรรมที่เริ่มตึงตัว อีกทั้งแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวดียังทำให้ภาคธุรกิจต้องลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในอนาคตทั้งจากในและต่างประเทศ ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2553 การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำของรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่แรงกระตุ้นผ่านรายจ่ายลงทุนคาดว่าจะลดลงจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้าเป็นสำคัญ ทำให้การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.1 ต่อปี ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการผลิตสินค้าส่งออกที่เร่งขึ้น

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เนื่องจากแรงกดดันจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นตามสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สำหรับอัตราการว่างงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ่นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม เนื่องจากการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 14.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากมูลค่านำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า โดยคาดว่ามูลค่าสินค้านำเข้าในปี 2553 จะขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 37.5 ต่อปี ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2554

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีโอกาศที่จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 ทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 — 5.4 ต่อปี) ตามภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในส่วนของรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามราคาพืชผลสำคัญ รายได้ของลูกจ้างและข้าราชการที่จะปรับสูงขึ้นตามการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองกลับเป็นปกติ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.3 — 12.3 ต่อปี) โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงตั้งแต่ปี 2553 สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากความเสี่ยงจากความเปราะบางและล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้ โดยคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.4 - 7.4 ต่อปี) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.1 — 9.1 ต่อปี) สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2554 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 — 3.9 ต่อปี) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2554 ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 — 5.2 ต่อปี)

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.5) อันเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2553 และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจส่งผลให้แรงกกดันด้านต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 — 1.2 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 3.6 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ3.1 — 4.1 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลดลงมาอยู่ที่ 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 12.7 — 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.6 — 15.6 ต่อปี) ในขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2 — 14.2 ต่อปี)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 150/2553 28 ธันวาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ