รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 มกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 10:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554

Summary:

1. เป้าส่งออกโต “10%” ยังลุ้น

2. แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปี 54 แพงขึ้นทุกรายการ

3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 53 ยังคงขยายตัวดี

Highlight:
1. เป้าส่งออกโต “10%” ยังลุ้น
  • ส่งออกปีกระต่ายยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลกและค่าเงิน โดยนางนันทวัลย์ สกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ในปี 2554 กระทรวงพานิชย์ ตั้งเป้าการส่งออกให้ขยายตัว 10% คิดเป็นมูลค่า 207.910 — 209,586 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ส่งอออกปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 24-25 % คิดเป็นมูลค่าประมาณ 189.009 -190.533 ล้านดอลลาร์
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 2554 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.4 ถึง 7.4 ต่อปี) แม้ว่าการขยายตัวจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า แต่เป็นเพราะฐานการคำนวณที่สูงกว่าปกติในปี 2553 นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบทางลบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มประเทศในแถบตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการกระจายตัวของตลาดส่งออกที่กระจายตัวมายังกลุ่มประเทศในเอเชียมากขึ้น เห็นได้จากในปี 2553 จีนได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแทนที่สหรัฐ รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนที่ไทยส่งออกไปได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก
2. แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปี 54 แพงขึ้นทุกรายการ
  • รมว.กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า แนวโน้มสินค้าเกษตรสำคัญปี 53/54 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นทุกรายการ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง หมู ไก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ และถั่วเหลือง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวน การระบาดของศัตรูพืช และปัญหาน้ำท่วม เช่นเดียวกับผลผลิตประเทศอื่นทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 54 คาดว่าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 53 ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) อุปทานสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก 2) อุปสงค์ต่อสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐโลก 3) แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และ 4) ปัจจัยด้านการเก็งกำไร เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการเก็งกำไร ทั้งนิ้ ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.1 ต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปี 54 ต่อไป
3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 53 ยังคงขยายตัวดี
  • กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ประกาศตัวเลขเบื้องต้นของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี หรือร้อยละ 6.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq saar) จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq saar) ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์พ้นจากการตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้ จากตัวเลขเบื้องต้นที่กล่าวมา ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ในปี 53 อย่างไรก็ตาม ทางการสิงคโปร์คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 54 ว่าจะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 - 6.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 53 ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 14.7 ต่อปี หลังจากที่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.3 ต่อปีในปี 52 โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกที่ไม่รวมน้ำมัน ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวดีถึงร้อยละ 24.2 ต่อปี สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมซึ่งในไตรมาส 4 ขยายตัวดีถึงร้อยละ 28.2 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ย 11 เดือนแรกปี 53 อยู่ที่ระดับ 51.2 สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และสูงขึ้นมากจากปี 52 ที่อยู่ที่ระดับ 49.8 สะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ