รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 มกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 11:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือนธ.ค. 53 มีจำนวน 121.8 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 13.9
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวร้อยละ 81.0
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ธ.ค. 53 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 167.8 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนธ.ค. 53 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -25.7 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 109.7
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.6
  • GDP จีน ไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 53 GDP จีนขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ร้อยละ 10.3

Indicators next week

 Indicators                         Forecast            Previous
Dec: API (%yoy)                        3.0                 -2.0
  • ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี และยางพารา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น
Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนธ.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 121.8 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 และสูงกว่าประมาณการ 14.8 พันล้านบาทหรือร้อยละ 13.9 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร โดยภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8 และขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 และหากปรับผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนและภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ทั้งปี 2553 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 15.5

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 81.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 90.3 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกจะหดตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีหลังสิ้นสุดมาตรการ กระตุ้นของภาครัฐ รวมทั้งอุปสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งปี 53 ขยายตัวร้อยละ 74.5

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ธ.ค. 53 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 167.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสินจำนวน 598.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.6 ทั้งนี้ ในเดือน ธ.ค. 53 การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณเบิกจ่ายได้จำนวน 152.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 7.3 จากกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 133.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.1 และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 18.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -51.3 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน ธ.ค. 53 ได้แก่รายจ่ายงบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 13.8 พันล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน11.2 พันล้านบาท และรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำ นวน 6.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 14 ม.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้น 258.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 73.8 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค.53 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -25.7 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 82.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลเกินดุลจำนวน 56.9 พันล้านบาทและรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 17.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินเกินดุลจำนวน 73.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 54 ขาดดุลงบประมาณจำนวน -206.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 37.1 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -168.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธ.ค. 53 มีจำนวน 313.4 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดุลดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 109.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 99.7 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัวดี ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่มีระดับมากกว่า 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดี หลังจากที่ดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 115.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 113.6 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.5 และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีที่ร้อยละ 28.9 และ 20.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ6.8 ทำ ให้ทั้งปี 53 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 28.1 ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 35.3 หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ -7.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากปัจจัยฐานสูงและการเร่งนำเข้าในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนสินค้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวดีที่ร้อยละ 13.3 6.5 และ 21.8 ตามลำดับ ทำให้ทั้งปี 53 มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 36.5 ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่านำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 53 เกินดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้ดุลการค้าปี 53 เกินดุล 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 53 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.0 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะข้าวนาปี และยางพารา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง จูงใจให้ เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • ยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.6 (%mom) และเมื่อไม่รวมยอดขายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.5 บ่งชี้การบริโภคที่ขยายตัวได้ แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าด้านราคาระดับเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันที่เพิ่มขี้นที่ร้อยละ 1.5 จากปีก่อนหน้า หรือขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.5 จากราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.53 ที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.8 จากผลผลิตเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ยอดสร้างบ้านใหม่เดือนธ.ค. 53 อยู่ที่ 529,000 หลังต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือนหรือหดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -4.3 ขณะที่ยอดขออนุมัติสร้างบ้านอยู่ที่ 635,000 หลังต่อปี ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 16.7
China: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 53 GDP ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ร้อยละ 10.3 สอดคล้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเขตเมืองในปี 53 ที่ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 24.5 และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 53 มีมูลค่า 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 17 โดยร้อยละ 23 เป็นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการบริโภค ยอดค้าปลีกปี 53 ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 18.4 สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 4.6 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.3
Australia: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค. 54 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 104.6 หรือหดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาน้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นในรัฐควีนส์แลนด์ โดยคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากรัฐดังกล่าวเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
Malaysia: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ผนวกกับราคาค่าขนส่งที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 53 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.7
Hong Kong: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และราคาอาหารที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
Singapore: improving economic trend
  • การส่งออกไม่รวมน้ำมันเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของการส่งออกไปยังจีน และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Weekly Financial Indicators
  • ตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นหลัก และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่กลับมาซื้อสุทธิ ขณะที่แรงขายหลักยังคงมาจากนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีการขายทำกำไร เพื่อรอดูผลจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ซึ่งผลการเจรจายังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรของไทยมีความเคลื่นไหวค่อนข้างผันผวน โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในช่วงแรก ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อมีแรงเทขายเพื่อรอการประมูลพันธบัตรใหม่ ทั้งนี้การซื้อขายเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีแรงขาสุทธิมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นสัปดาห์

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวอย่างผันผวน หลังจากที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ และกลับมาแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลงจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินหยวนของจีน โดย ดัชนีค่าเงินบาท(NEER)ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.49 จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเป็นรองค่าเงินยูโร และเงินวอนของเกาหลีใต้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ