ตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2011 16:26 —กระทรวงการคลัง

รายงานตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2553 จัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศที่แท้จริงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวปานกลางที่ร้อยละ 2.0 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ร้อยละ 3.7 และ ร้อยละ 1.7ตามลำดับ

ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ประกอบไปด้วย (1) ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real PCE) ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ด้านสินค้าไม่คงทนร้อยละ 1.3 และด้านบริการ ร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ร้อยละ 6.8 ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.6 ตามลาดับ (2) ปริมาณการลงทุนในสินค้าคงคลังของภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.44 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.82 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 (3) ปริมาณการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่อาศัย (Non-residential fixed Investment) ที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 หลังจากขยายตัวร้อยละ 17.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (4) ปริมาณการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า (5) ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 หลังจากขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม (1) ปริมาณการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยที่ชะลอตัวร้อยละ 29.1 หลังจากขยายตัวร้อยละ 25.7 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 และ (2) ปริมาณการนาเข้าสินค้าและบริการที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 33.5 นับเป็นปัจจัยหลักที่กดดันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553

จะเห็นได้ว่า ปริมาณการลงทุนในสินค้าคงคลังของภาคเอกชน และปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่ขยายตัวในอัตราสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ประกอบกับปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวที่อัตราสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

ส่วนระดับราคาสินค้าและบริการขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.8 หลังจากปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า หากไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงาน ระดับราคาในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 จะขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ

ถึงแม้ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาสังเกตได้จาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของยอดขายบ้านและที่อยู่อาศัย (2) จำนวนการขอเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ว่างงาน (Jobless claims) ที่ปรับลดลง (3) ดัชนีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่น่ากังวลถึงความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยหลายอย่างอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวในไตรมาสต่อไป เช่น (1) แผนการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus package) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดอายุลงและจะส่งผลโดยตรงต่องบประมาณเพื่อการใช้จ่ายของรัฐบาลส่วนภูมิภาค รวมไปถึงแรงงานกว่าหนึ่งแสนคนที่ถูกจ้างงานตามโครงการดังกล่าว (2) อัตราการว่างงานที่งคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.6 ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนสหรัฐฯ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ