รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 มกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 12:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มกราคม 2554

Summary:

1. ธปท. ห่วงเงินเฟ้อ-การเมือง กดดันเศรษฐกิจไทยปี 54

2. อินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ

3. ยอดขายของซูปเปอร์มาเก็ตในญี่ปุ่นปี 53 ลดลง 2.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 22ปี

Highlight:
1. ธปท. ห่วงเงินเฟ้อ-การเมือง กดดันเศรษฐกิจไทยปี 54
  • ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 เพราะเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวสูงขึ้น จากการอ่อนค่าของเงินบาท
  • สศค.วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ (1) ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีอัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 9.4 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สหภาพยุโรปยังคงประสบปัญหาหนี้สาธารณะ และญี่ปุ่นยังคงประสบภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อการส่งออก (2) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย (3) แรงกดดันจากเงินเฟ้อ และ (4) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ในปี 54 เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจับบวกจากแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 53 รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง และการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายต่อเนื่องในปี 54 ทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี)
2. อินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ
  • ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ (25 ม.ค. 54) อีกร้อยละ 0.25 เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Repo rate ร้อยละ 0.25 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 6.25 เป็นร้อยละ 6.50 และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Reverse-repo rate ร้อยละ 0.25 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 5.25 เป็นร้อยละ 5.50 ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 7 ในรอบ 10 เดือน นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินเดียยังได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 54 (สิ้นปีงบประมาณ) ที่ร้อยละ 7.0 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 5.5
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าธนาคารกลางอินเดียจะดำเนินมาตรการการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากอินเดียกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.4 ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินเดีย เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม ซึ่งได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วก่อนหน้านี้ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 54 จะขยายตัวได้ร้อยละ 8.4 ต่อปี
3. ยอดขายของซูปเปอร์มาเก็ตในญี่ปุ่นปี 53 ลดลง 2.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี
  • สมาคมร้านค้าปลีกแบบเครือข่ายแห่งญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขายของซูปเปอร์มาเก็ตในญี่ปุ่นปี 53ปรับตัวลดลง 2.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี ที่ 12.36 ล้านล้านเยน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มด้านการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค โดยยอดขายอาหารซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าทำรายได้สูงสุดปรับตัวลดลง 2.3% คิดเป็น 7.75 ล้านล้านเยนยอดขายเสื้อผ้าลดลง 4.4% คิดเป็น 1.30 ล้านล้านเยน เครื่องใช้ในครัวเรือนลดลง 2.7% คิดเป็น 2.51 ล้านล้านเยน เฉพาะเดือนธ.ค.เพียงเดือนเดียวยอดขายตกลง 1.6% จากปีก่อนหน้า
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินเยน และภาวะเงินฝืดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ กล่าวคือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเดือนพ.ย. 53 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อเดือน และมูลค่าค้าปลีกกลับมาขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 ต่อเดือน จากที่หดตัวสองเดือนติดต่อกันจากมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ที่สิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. 53 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 40.4 ตามความเชื่อมั่นต่อการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยอัตราการว่างงานเดือน พ.ย.53 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวม เท่ากับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ