บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง แนวโน้มและทิศทางการลงทุนในประเทศกับมิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยในปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 10:32 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

การลงทุนภายในประเทศมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของ GDP โดยพบว่าการลงทุนภายในประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี ทั้งนี้ การลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP )ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 สามารถขยายตัวได้สูงที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี และทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7.8 ต่อปี

แนวโน้มสถานการณ์การลงทุนรวมในปี 2554 คาดว่า การลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปีซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 - 4.5 ต่อปี

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำคิดเป็นเพียงร้อยละ 20.0 ของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ที่สูงกว่าระดับร้อยละ 40.0 ของ GDP ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนรวมของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ ประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญกับ 1) การลงทุนภาครัฐ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายของภาครัฐเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุน ผ่านการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) และ 2) การลงทุนภาคเอกชน โดยการเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขัน (Comparative Advantage) เช่น (1) อุตสาหกรรมอาหาร (Foods) (2) อุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion) (3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism) (4) อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และ (5) อุตสาหกรรมซอฟแวร์ (Software) เป็นต้น

การลงทุนรวมในประเทศมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยพบว่าการลงทุนรวมในประเทศ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี ทั้งนี้ การลงทุนรวมที่ฟื้นตัวมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP )ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี

การลงทุนรวมในประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของ GDP โดยการลงทุนรวมในประเทศสามารถแบ่งออกเป็น 1) การลงทุนภาคเอกชน มีสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของ GDP ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการลงทุนภายในประเทศ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 15.4 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็น (1) การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 16.7 ต่อปี และ (2) การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี และ 2)การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของ GDP โดยพบว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2553 หดตัวลงอย่างมากประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจในไตรมาสที่ 3 มีการเบิกจ่ายได้ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุทกภัยจากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ทำให้การเบิกจ่ายชะลอลง ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐ แบ่งออกเป็น (1) การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -12.8 ต่อปี และ (2) การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้คาดว่าในปี 2553 การลงทุนรวมในประเทศจะขยายตัวได้ร้อยละ 11.1 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็นการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนรวมในประเทศสำหรับปี 2554 คาดว่าการลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งได้รับ ปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกที่อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ปี 2553 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และ 3) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นจากการแก้ไขปัญหาในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น 2) การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2554 ที่มีวงเงินสูงถึง 344,495 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 248,036 ล้านบาท (หรือคิดเป็นร้อยละ 72.0 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 2554) สูงกว่ารายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้จำนวน 172,380 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 รวมทั้งรายจ่ายตาม

แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 64,967 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 โดยมีช่วงคาดการณ์จำนวน 51,936 ถึง 77,998 ล้านบาท ชะลอลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า เนื่องจากฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ 2553 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 219,901 ล้านบาท ซึ่งการขยายตัวของการลงทุนรวมดังกล่าว ทำให้คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 - 5.0 ต่อปี

ในอนาคตการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจะมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตของประเทศซึ่งการลงทุนภาครัฐจะประกอบด้วยเงินลงทุนของรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กับภาคเอกชนในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิต (Productivity) โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

การแข่งขัน (Comparative Advantage) มากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ การลงทุนภายในประเทศในช่วงตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 20.0 ของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ที่สูงกว่าระดับร้อยละ 40.0 ของ GDP โดยพบว่าเป็นผลมาจากการลดลงของการลงทุนของภาครัฐในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นสำคัญเนื่องจากภาระหนี้ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแก้ไขปัญหาภาคการเงิน

ทั้งนี้ พบว่าในช่วงปี 2546-2551 การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.7 ของ GDP ลดลงต่อเนื่องเทียบกับช่วง ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (ปี 2535-2540) และช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2541-2545 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.2 ของ GDP และ 8.4 ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การลงทุนในระดับที่ต่ำในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยในปัจจุบันเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันต่างๆ เช่น International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2553 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 58 ประเทศ ซึ่งจุดอ่อนสำคัญของประเทศไทยจากผลการศึกษาของ IMD คือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และระบบโลจิติกส์ (Logistics) ที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย IMD ได้จัดอันดับทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่อันดับที่ 42 ในปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้ระบบสาธารณูปโภคของไทยด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบ สำหรับการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ กับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านสาธารณูปโภคอยู่ในอันดับที่ 29 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 36 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 40 ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 47 และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ในอันดับที่ 50 ตามลำดับ

ดังนั้น ในระยะต่อไป การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศควรให้ความสำคัญทั้งการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ดังนี้

(1) การลงทุนภาครัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีวงเงินลงทุนกว่า 1.30 ล้านล้านบาท สำหรับในช่วงปี 2553 - 2555 ที่จะเป็นการลงทุนในด้านคมนาคม ชลประทาน โทรคมนาคม พลังงาน เป็นหลัก

นอกจากภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโดยตรงแล้ว ภาครัฐยังสามารถใช้นโยบายและมาตรการเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ผ่านการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในการให้บริการสาธารณะร่วมกับรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างทางเลือกทางการทำงานให้มากขึ้น และเป็นการขยายการเข้าถึงบริการของรัฐกับภาคประชาชน ในขณะที่จะเป็นการลดข้อจำกัดด้านงบประมาณการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูงจำนวน 7 แสนล้านบาท โดยแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจะประกอบด้วย 4 เส้นทางคือ (1) กรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร (2) กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร (3) กรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 250 กิโลเมตร และ (4) กรุงเทพ-ปาดังเบซา ระยะทาง 985 กิโลเมตร เป็นต้น ซึ่งการมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการค้า การคมนาคม รวมไปถึงการสื่อสาร

(2) การลงทุนภาคเอกชน ภาคเอกชนควรเน้นการพัฒนาในส่วนของภาคการผลิตที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งอยู่ โดยให้ความสำคัญกับการการลงทุนและการวิจัยและการพัฒนา (Research & Development) ซึ่ง จากผลการศึกษาของศาสตราจารย์ Michael E. Porter จากมหาวิทยาลัย Harvard Business School ที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ได้ประเมินอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น

อุตสาหกรรมอาหาร (Foods) เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่มีวัตถุดิบในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion) ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของกลุ่มสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับอัญมณี และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ซึ่งภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต เนื่องจากศักยภาพการผลิตของฝีมือแรงงานงานของไทยมีคุณภาพ และมีค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว(Tourism) ภาครัฐควรให้การสนับสนุนส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบกับมีภูมิประเทศที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค และส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพอุตสาหกรรมซอฟแวร์ (Software) สิ่งที่ภาครัฐต้องส่งเสริมอย่างแรกในการพัฒนาซอฟแวร์ คือการส่งเสริมศักยภาพของบุคคลกรในประเทศให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีการเติบโตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

สนับสนุนการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) จากการที่รัฐบาลได้มีการเตรียมการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งภาย 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยขับเคลื่อนในเรื่อง Creative Economy นี้ โดยคาดว่าภาคธุรกิจไทยคนไทยจะได้มีโอกาสนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตไปได้อย่างมากในอนาคต ซึ่งการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป เพราะฉะนั้น แนวคิดในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสอดคล้องอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องอย่างยิ่งกับเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นการพัฒนาบนความยั่งยืน

ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐต้องเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนในอนาคตจำเป็นต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น และ

แนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนไทยจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐ รัฐบาลได้มีโครงการลงทุนที่สำคัญโดยการมุ่งเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Physical nfrastructure) โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Transit) รวมถึงมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของมาตรการทางการเงิน และมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อการเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้กับภาคเอกชนต่างชาติ เพื่อเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยหรือเรียกว่า Regional Operating Headquarters: ROH เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคในการดึงดูดภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไปยังคงมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ (1) ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีอัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 9.4 ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงลดลงในบางพื้นที่ ทำให้รายได้และการบริโภคของภาคเอกชนสหรัฐยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สำหรับยุโรปยังคงประสบปัญหาหนี้สาธารณะ กระทบต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินสกุลยูโร และญี่ปุ่นยังคงประสบภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อการส่งออก (2) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจเอเชีย พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่าน Quantitative Easing 2 (QE2) วงเงินกว่า 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินและเกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินของภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น และทำให้ระดับราคาสินทรัพย์ (Asset Price) ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุน (3) สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (4) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้โอกาสการขยายตัวของธุรกิจลดลงตามไปด้วย และ (5) แรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ อันเป็นผลมาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อจะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตที่จะมีผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศต่อไป

ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพการลงทุนภายในประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ดีนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐต้องเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure) และส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ