รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 12:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 54 เพิ่มร้อยละ 3.2-3.7

2. ธปท.ชี้ปีนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ระดับ 52.9 จุด

Highlight:
1. กระทรวงพาณิชย์คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 54 เพิ่มร้อยละ 3.2-3.7
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของประเทศเดือน ม.ค. 54 เท่ากับ 109.51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 53 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.32 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 53 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 54 จะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 3.2 -3.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.54 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ดัชนีราคาในหมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 2) ดัชนีราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 53 รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบกับราคาผลผลิตทางการเกษตรอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 54
2. ธปท.ชี้ปีนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มมีความผันผวนในช่วงนี้ น่าจะมีสาเหตุจากการที่นักลงทุนไม่แน่ใจกับการลงทุน ไม่แน่ใจกับสถานการณ์ในประเทศอียิปต์ ในขณะที่ด้านผลตอบแทนดอกเบี้ยตราสารหนี้ในสหรัฐดีขึ้น ทำให้ในปี 54 น่าจะเห็นภาวการณ์ไหลเข้าออกเร็วของเงินทุนเช่นนี้ต่อไป ดังนั้น นักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ควรมีการป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 54 ไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนจากภายนอก เนื่องจากปัญหาการว่างงานของสหรัฐ ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และแนวโน้มที่หลายประเทศใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยอาจทำให้ตลาดเงินตึงตัวและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในที่สุด โดยนับจากช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค. 54 - 1 ก.พ. 54) นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจากการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 28,629.97 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้มีการไหลเข้า 10,722.80 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากที่ร้อยละ 2.7 นับจากต้นปี
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ระดับ 52.9 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของจีนในเดือน ม.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด นับเป็นการลดต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุด บ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว สำหรับดัชนีราคาซื้อสินค้าในภาคการผลิตสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 69.3 จุด เพื่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่กระดับ 66.7 จุด ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั้งปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากปีก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -0.7 บ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และอาจทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงินเพิ่มเติม
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการคุมเข้มด้านการเงินของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มเพดานกันสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 54 ได้ เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับแรกของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ด้านระดับเงินเฟ้อในจีนนั้น ในระยะสั้นคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปของจีนจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งในเดือน ม.ค. 54 เนื่องจากความต้องการอาหารและการอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ