รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 10, 2011 10:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. ททท.ตั้งเป้าปี 54 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.5-16.6 ล้านคน

2. ต่างชาติทิ้งตลาดเกิดใหม่ หุ้นไทยเดือน ม.ค. 54 ร่วงร้อยละ 6.6

3. อัตราดอกเบี้ยของจีนที่ปรับขึ้นยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

Highlight:
1. ททท.ตั้งเป้าปี 54 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.5-16.6 ล้านคน
  • ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า ในปี 54 ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 16.5-16.6 ล้านคน จากจำนวน 15.8 ล้านคนในปี 53 ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จาก 5.8 แสนล้านบาทในปีก่อน โดย ททท.จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นและเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และร่วมกับเอกชนในการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการเมือง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนม.ค.54 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมีจำนวนทั้งสิ้น 1.79 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย และยุโรป ซึ่งสะท้อนว่าการท่องเที่ยวของไทยได้ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 51 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 54 จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและยุโรปจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
2. ต่างชาติทิ้งตลาดเกิดใหม่ หุ้นไทยเดือน ม.ค. 54 ร่วงร้อยละ 6.6
  • ตลาดหลักทรัพย์รายงานว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน ม.ค.54 ปิดที่ระดับ 964.1 จุด ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 จากสิ้นปี 53 สาเหตุสำคัญจากผู้ลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในปี 2553 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) รวมทั้งประเทศไทย และเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดยตลอดทั้งเดือนนักลงทุนต่างประเทศมียอดขายสุทธิรวม 28,680 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าซื้อสุทธิในปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 54 โดยดัชนีในหมวดที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดคือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.1 ขณะที่รองลงมาคือ กลุ่มเกษตรฯ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ฯ สาเหตุหลักจากราคาหลักทรัพย์ของกลุ่มดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในปี 53 โดยอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด เมื่อถึงจุดที่เหมาะสมจึงมีการเทขายทำกำไรออกมา นอกจากนั้นนักลงทุนยังมองว่าสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค.54 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.0 จากสูงสุดที่ร้อยละ 10.1 ในช่วงวิกฤติ จึงมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ทั้งนี้ จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะขยายตัวดีที่ร้อยละ 10-15 จะทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปี 54 ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 53 ได้ในระยะยาว
3. อัตราดอกเบี้ยของจีนที่ปรับขึ้นยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจีนปรับขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 3 ต่อปี อาจไม่เพียงพอต่อการลดแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเกือบร้อยละ 2 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาอาหาร น้ำมัน และค่าแรง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางจีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่ล่าสุด ณ ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 4.6 ถือเป็นหนึ่งในมาตรการของทางการเงินเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเพื่อควบคุมความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือมาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางจีนยังได้เพิ่มอัตราส่วนการถือเงินสดของธนาคารพาณิชย์เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดถึง 6 ครั้ง ดังนั้น มาตราการทางการเงินที่เข้มงวดในปัจจุบันของจีนน่าจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะสามารถหยุดยั้งภาวะเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ การนำมาตรการทางการคลังมาใช้ อาทิ การลดภาษีนำเข้าหรือมาตรการเพื่อลดค่าครองชีพ น่าจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันของเงินเฟ้อได้เช่นกัน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 9 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ