รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 14, 2011 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. ยอดลงทุนเดือนม.ค.54 หดฮวบจากโครงการใหญ่ชะลอลงทุน

2. ธปท. ชี้เวียดนามลดค่าดองกระทบส่งออกน้อย

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี

Highlight:
1. ยอดลงทุนเดือนม.ค. 54 หดฮวบจากโครงการใหญ่ชะลอลงทุน
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า จำนวนโครงการลงทุนเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือน ม.ค. 54 มีผู้ขอยื่นขอรับการส่งเสริม 120 ราย คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 2.84 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 48.0 โดยมีการจ้างงานอยู่ที่ 10,141 คน ซึ่งโครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนขนาดไม่เกิน 200 ล้านบาท จำนวน 85 ราย ส่วนกิจการที่มีการลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียง 11 ราย สะท้อนให้เห็นว่า ปีนี้การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งประเทศญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดจำนวน 40 โครงการ รวมเป็นมูลค่าลงทุน 1.29 หมื่นล้านบาท ส่วนกิจการที่มีผู้สนใจยื่นขอลงทุนมากสุด คือผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ยอดขอรับการลงทุนในเดือน ม.ค. 54 ที่ลดลงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากนักลงทุนต่างชาติมองว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ เวียดนามและมาเลเซีย มีแนวโน้มที่ดี ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทย และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนได้ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการลงทุนปี 53 ในภาพรวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 42.3 จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.8 และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากปีก่อนขยายตัวร้อยละ 0.4 ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับฐานลงทุนในปีที่แล้วต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี และปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 11.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.3 ถึง 12.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 53)
2. ธปท. ชี้เวียดนามลดค่าดองกระทบส่งออกน้อย
  • ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่ากรณีเวียดนามลดค่าเงินดองอีกร้อยละ 8.5 ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากนัก ทั้งนี้เพราะปัจจุบันโครงสร้างส่งออกของสินค้าไทยต่างจากอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่เป็นสินค้าพื้นฐานเช่นภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกรวม ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าไอที เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงรถยนต์ เคมีโปรดักส์และอาหารแปรรูป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในฐานะคู่ค้าแล้ว เวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 12 มีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 3.0 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 53 โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในฐานะแหล่งนำเข้า ไทยนำเข้าจากเวียดนามเพียงร้อยละ 0.8 ของมูลค่านำเข้ารวมในปี 53 การลดค่าเงินดองเวียดนามจึงส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อไทยในแง่ของคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ในแง่ของคู่แข่งบนเวทีการค้าโลกไทยและเวียดนามมีสินค้าส่งออกคล้ายคลึงกันบางชนิด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ไทยจึงควรเร่งพัฒนาคุณภาพและสร้างแบรนดิ้งของสินค้าเกษตรไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาจากเวียดนาม
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปี 53 หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • ทางการญี่ปุ่นประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 53 เบื้องต้น หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%qoq annualized) ซึ่งหดตัวลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเกิดจากการบริโภคที่ลดลงเนื่องจากมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ใหม่ของรัฐหมดอายุลงในเดือน ก.ย. 53 ในขณะที่เครื่องชี้วัดด้านการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ดี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนญี่ปุ่นจะลดลง แต่ในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มที่ดี โดยในเดือน ธ.ค. 53 ตัวเลขดัชนีภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สอดคล้องกับภาคการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีต่อหน้าขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 53 ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.0 ทั้งนี้ ในปี 54 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ