รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 17, 2011 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. ธนาคารกสิกรไทยหนุนผู้ส่งออกบุกตลาดใหม่ หวังลดความเสี่ยงทางการค้า

2. ธนาคารโลกเตือน ราคาอาหารโลกถึงระดับอันตราย

3. ยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือน ม.ค. ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

Highlight:
1. ธนาคารกสิกรไทยหนุนผู้ส่งออกบุกตลาดใหม่ หวังลดความเสี่ยงทางการค้า
  • ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า วิกฤตสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมสูงกว่าร้อยละ 60 ของการส่งออกรวมของไทย เนื่องจากความต้องการสินค้าชะลอตัวลง และมีการแข่งขันด้านราคาสูงส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกและผลกำไร ดังนั้น ธนาคารฯจึงออกแคมเปญเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ทั้งจากทวีปแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และเอเชีย เพื่อให้ผู้ส่งออกได้สร้างโอกาสทางการค้า
  • สศค.วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 53 ขยายตัวร้อยละ 28.1 จากปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -14.3 จากหมวดยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ดี โดยตลาดส่งออกจีนมีสัดส่วนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งขยายตัวร้อยละ 33.2 เมือเทียบกับ 52 ขณะที่อเมริกาและยุโรป ลงมาเป็นอันดับ 3 และ 4 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกจะ ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ช่วงคาดการณ์ 12.2-14.2) อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รวดเร็วอาจส่งผลกระทบความผันผวนของค่าเงิน ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยสศค.คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 14 ประเทศ (สัดส่วน 78.2 ของการส่งออกทั้งหมด) จะขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 54 นำโดยเศรษฐกิจจีนและกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก
2. ธนาคารโลกเตือน ราคาอาหารโลกถึงระดับอันตราย
  • ประธานธนาคารโลก เผยว่าในช่วงปี 53 ที่ผ่านมาราคาอาหารโลกสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปี 52 ต่ำกว่าช่วงที่เกิดวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี 51 เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งการที่ราคาอาหารโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประชากรในประเทศเหล่านี้ใช้จ่ายครึ่งหนึ่งของรายได้ไปกับค่าอาหาร และยังวิตกกังวลว่าบางประเทศอาจมีปฏิกิริยาต่อปัญหาราคาอาหารแพงด้วยการห้ามส่งออกอาหารหรือใช้มาตรการควบคุมอาหาร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะยิ่งทำให้ปัญหาราคาอาหารแพงเลวร้ายยิ่งขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 53 เป็นต้นมา โดยล่าสุดดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index) เดือน ม.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 231 ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 28.3 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาธัญญาหาร เนื้อสัตว์ และน้ำตาล ที่ขยายตัวร้อยละ 43.7 18.1 และ 11.9 ตามลำดับ โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานินญ่า ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ผลผลิตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดย สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 โดยในกรณีสูงอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือน ม.ค. ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ายอดค้าปลีก ณ เดือน ม.ค. 54 ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ต่ำกว่าที่คาดการไว้ที่ระดับร้อยละ 0.5 ต่อเดือน ถือเป็นการขยายตัว ที่ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 53 ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวลดลงมีสาเหตุสำคัญจากสภาวะอากาศที่หนาวจัดได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจร้านอาหารและวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ การปรับขึ้นของราคาอาหารและน้ำมันมีส่วนทำให้ภาคครัวเรือนลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าสภาวะอากาศหนาวจัดในสหรัฐ ช่วงเดือน ม.ค. 54 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่ขยายตัวลดลงและการจ้างงานนอกเกษตร ณ เดือน ม.ค. ที่เพิ่มขึ้นเพียง 36,000 ตำแหน่ง ลดลงจากเดือน ธ.ค. 53 ที่เพิ่มขึ้นถึง 121,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี ตัวเลขการว่างงานภาพรวมล่าสุด ณ เดือน ม.ค. ที่ปรับลดลงเหลือร้อยละ 9.0 จากร้อยละ 9.4 ในเดือนก่อน ประกอบกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (QE2) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มยอดการซื้อขายที่พักอาศัยที่ขยายตัวดีขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 54 จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ