รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 11:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. พาณิชย์กำชับทูตพาณิชย์ทั่วโลกรายงานผลกระทบส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง

2. นายกฯ สั่งลุยเร่งนำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตัน

3. จี 20 ตกลงแนวทางการดูแลความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก

Highlight:
1. พาณิชย์กำชับทูตพาณิชย์ทั่วโลกรายงานผลกระทบส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ความไม่สงบในแถบตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย จึงได้กำชับให้กรมส่งเสริมการส่งออกสั่งการให้ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์ผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยและเร่งเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด โดยให้เจาะความต้องการสินค้าที่ประเทศนั้นๆมีความต้องการใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อมูลค่าการส่งออกมากนักพร้อมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ตะวันออกกลางเป็นคู่ค้าที่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย โดยในปี 53 ไทยส่งออกไปยังตะวันออกกลางมูลค่า 9,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 5.0 ของมูลค่าส่งออกรวม จัดว่าเป็นคู่ค้าอันดับ 8 รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และทวีปออสเตรเลีย โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ ข้าว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ และครื่องปรับอากาศ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีตลาดส่งออกที่กระจายตัวสถานการณ์ในแถบตะวันออกกลางจีงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยเพียงในระยะสั้นเท่านั้น
2. นายกฯ สั่งลุยเร่งนำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตัน
  • นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มอย่างมาก ซึ่งในวันที่ 22 ก.พ. นี้ จะมีการหาแนวทางเพื่อจัดการปัญหาการขาดแคลนพร้อมกับให้มีการดำเนินการเร่งรัดนำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 1.2 แสนตัน โดยเร็วที่สุด ขณะที่รมว.พาณิชย์จะเสนอของบประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อเข้าไปสนับสนุนและแทรกแซงราคาให้ลดลงหรือขายในราคาเดิม ซึ่งหาก ครม. พิจารณาอนุมัติตั้งกองทุนน้ำมันปาล์มตามที่กระทรวงได้เสนอไปก็จะช่วยให้ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 47 บาทตามเดิม
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดขณะนี้เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มนำเข้าล็อตแรกไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธ์ไปแล้ว 3 หมื่นตัน ซึ่งการนำเข้าน้ำมันปาล์มอีก 1.2 แสนตันในล็อตสองจะช่วยให้ลดปัญหาการขาดแคลนได้ในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าจะยังคงส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าหมวดเครื่องประกอบอาหารในเดือนก.พ. ยังคงปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องจากเดือน ม.ค. 54 ที่อยู่ในระดับสูงที่ระดับ 126.28 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าหมวดเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มลดลงในเดือนมี.ค. เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มในประเทศเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นซึ่งอาจทำให้ราคาปรับตัวลดลงตาม ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ ธ.ค. 53)
3. จี 20 ตกลงแนวทางการดูแลความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
  • การประชุมรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศ จี 20 เมื่อวันที่ 18-19 ก.พ. 54 ได้ข้อสรุปว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวแต่อัตราการฟื้นตัวไม่เท่ากันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศใหญ่ที่กำลังพัฒนา จึงจำเป็นต้องมีปัจจัยชี้วัดต่างๆ เพื่อดูแลความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงสมดุลการค้า หนี้สินของภาครัฐ และอัตราเงินออมของภาคเอกชน โดยมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลต่างๆ รวมทั้งให้มีการพัฒนาระบบการเงินโลก และหลีกเลี่ยงการไหลของเงินทุนที่ไม่เป็นระบบและการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นระเบียบของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมุ่งไปที่การทำให้ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกเป็นไปโดยการผลักดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออก โดยอาจลดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อการส่งออกรวมลดลงในปี 53 โดยปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย ในทางกลับกัน การแข็งค่าของเงินหยวนน่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกของประเทศไทยไปสู่จีน ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกปี 53 จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ