รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2011 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

Summary:

1. ราคาข้าวเปลือกดิ่งช่วงปลายฤดู

2. TMB ชี้ทุกฝ่ายควรเร่งให้ความสำคัญกับวิกฤติอาหารโลก

3. เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 6.2

Highlight:
1. ราคาข้าวเปลือกดิ่งช่วงปลายฤดู
  • กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างมาก โดยราคาล่าสุด ณ วันที่21 ก.พ.54 ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิต 53/54 อยู่ที่ตันละ 12,650-14,000 บาท ลดลงจากต้นฤดูกาลในเดือน พ.ย.2553 ที่ตันละ 13,400-15,500 บาท ทั้งนี้ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวของไทยอ่อนตัวลง เพราะเวียดนามลดค่าเงินด่องลง ส่งผลให้ช่องว่างของราคาข้าวไทย และข้าวเวียดนามสูงขึ้นถึงตันละ 60-80 เหรียญสหรัฐฯ โดยปัจจุบันราคาข้าวสารขาว 5% ของไทยตันละประมาณ 520 เหรียญสหรัฐฯ แต่ของเวียดนามประมาณ 460 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ผู้ซื้อไม่สนใจซื้อข้าวไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาข้าวเปลือกเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากรัฐบาลเริ่มระบายสต๊อกข้าวเปลือกให้กับผู้ส่งออกภายในประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศเวียดนามลดค่าเงินดองลงอีกร้อยละ 8.5 ทำให้ราคาข้าวของเวียดนามถูกลงกว่าไทยนอกจากนั้นประเทศอินโดนีเซียยังได้ลดการซื้อข้าวจากไทยลงเหลือ 3 แสนตัน จากที่ก่อนหน้าคาดไว้ว่าจะซื้อถึง 8 แสนตัน โดยหันไปซื้อจากประเทศเวียดนามแทนอย่างไรก็ดี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี ในฤดูกาลผลิตปี53/54 จะลดลงร้อยละ -4.6 เหลือ 22.2 ล้านตัน เนื่องจากผลกระทบจากภาวะอุทกภัยซึ่งผลผลิตที่ลดลงจะมีส่วนทำให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากปีก่อนหน้า
2. TMB ชี้ทุกฝ่ายควรเร่งให้ความสำคัญกับวิกฤติอาหารโลก
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตอาหารโลกที่ส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ดัชนีราคาอาหารโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 และดัชนีราคาวัตถุดิบที่มาจากภาคการเกษตรสูงขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าปรับตัวสูงขึ้นกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีจำนวนประชากรมากและมีกำลังซื้อสูงขึ้น เป็นผลมาจากจำนวนพื้นที่เพื่อการผลิตอาหารลดลงจากการนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิง ชีวภาพและพลังงานทดแทนรวมถึงการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ส่งผลทำให้ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index)เดือน ม.ค.54 อยู่ที่ระดับ 231 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่มีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันและราคาอาหารในตลาดโลก โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค.54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงมีแนวโน้มทีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ3.5 ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-4.5 ต่อปี) (คาดการณ์ ณ เดือน

ธ.ค.53)

3. เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 6.2
  • อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 หรือเมือหักผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวที่ชะลอลงดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคการส่งออกสินค้า ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดของเศรษฐกิจฮ่องงกง หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.4 (%qoq_sa) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า บ่งชี้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศอย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 54 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของฮ่องกง โดยล่าสุดในเดือนม.ค. 54 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้สศค. คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ในปี 54

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ