รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 09:27 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • GDP ไทยในไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ ทั้งปี 53 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 7.8
  • การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ม.ค. 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 235.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 56.8
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนม.ค. 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -108.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.54 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ 26.3
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 49.6 ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 29.7
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 22.3 ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 33.3
  • ยอดจำหน่ายบ้านสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 54 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า
  • GDP ฮ่องกงไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ GDP มาเลเซียไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.8
Indicators next week
 Indicators                         Forecast            Previous
Feb: Headline inflation (%yoy)        2.7                  3.0
  • สาเหตุสำคัญมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผักซึ่งมีราคาลดลง เป็นผลจากสภาวะอากาศที่เหมาะสม ทำให้ผล

ผลิตออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก

Economic Indicators: This Week

GDP ไทยในไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 แต่ถือได้ว่าขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.8 และ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำ ดับ ในขณะที่ด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.8 เนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับมีการขยายการผลิตติดต่อกันหลายไตรมาสในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ ทั้งปี 53 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 7.8

การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ม.ค. 54 เบิกจ่ายได้จำนวน235.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 56.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ 54 จำนวน 220.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 10.7 ของกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 146.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 74.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1211.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน ม.ค. 54 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 73.8 พันล้านบาท รายจ่ายงบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 16.2 พันล้านบาท และรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 833.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.7 ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 54 จะเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 93.0 นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ณ วันที่ 18 ก.พ. 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 264.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 75.6 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -108.0 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -35.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำนวน -143.1 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 15.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -128.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 ขาดดุลงบประมาณจำนวน -311.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -585 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -312.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 54 มีจำนวน 185.3 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกหดตัวร้อยละ -1.1 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี และผลผลิตไก่เนื้อ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นจูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางพารา ขยายตัวในอัตราชะลอลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.54 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 49.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.2 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 2)ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น และ 3) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 29.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 19.8 ในขณะที่สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 35.7 36.7 และ 35.9 ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่านำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 54 ขาดดุล -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 54 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ม.ค. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.03 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผักซึ่งมีราคาลดลงเป็นผลจากสภาวะอากาศที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดจำหน่ายบ้าน (Existing Home Sales) เดือน ม.ค. 54 อยู่ที่ 5.36 ล้านหลังต่อปี ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า (%mom_sa) ขณะที่ ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนเดียวกันหดตัวร้อยละ -12.6 จากเดือนก่อนหน้า ด้านราคาพบว่าราคาบ้าน (CaseShiller 20) เดือน ธ.ค. 53 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.4 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 70.4 บ่งชี้แนวโน้มที่ดีของการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 93 คำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า (%mom sa)
Japan: mixed signal
  • ยอดส่งออกและนำเข้าเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือนที่ 471.4 พันล้านเยน เนื่องจากการส่งออกไปยังเอเชีย (ร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมด) ชะลอตัวลง เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 54 เท่ากับปีก่อนหน้า (ไม่ขยายตัว) ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน Moody’s ปรับลด Outlook ลงจาก Stable เป็นNegative จากปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ
Eurozone: improving economic trend
  • คำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต(PMI) เดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ระดับ 58.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีองค์ประกอบทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ บ่งชี้สัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจยุโรปในครึ่งแรกของปี
Hong Kong: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 (% qoq_sa) เนื่องจากาการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากไตรมาสก่อนหน้า เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
Malaysia: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ทั้งปี 53 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 7.2 จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
Singapore: worsening economic trend
  • เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้คาดว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้
Phillipines: improving economic trend
  • ยอดนำเข้าเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลัก ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
Weekly Financial Indicators
  • ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีการซื้อขายที่คึกคักขึ้น ถึงแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ที่ระดับ ต่ำกว่า1,000 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์การซื้อขายไม่คึกคักนักซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามแรงซื้อหลักยังมาจากนักลงทุนต่างชาติซึ่งมีการซื้อสุทธิต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดพันธบัตรของไทยมีความเคลื่อนไหวตามนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวตามอุปสงค์และอุปทานของพันธบัตรในแต่ละรุ่น
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้กลับมาแข็งค่าขึ้นหลังจากที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีอย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงร้อยละ 1.7 อ่อนค่าลงเป็นอันดับ 2 รองจากค่าเงินยูโรทั้งนี้การแข็งค่าของเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาสอดคล้องกับการลงทุนในตลาดทุนของนักลงทุนต่างชาติ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.35 จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งสวนทางกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคยกเว้นเงินเยนของญี่ปุ่น และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.46 ตั้งแต่ต้นปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ