บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง เงินเฟ้อปีกระต่าย เตรียมกระโดดหรือติดปีกบิน?

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 10:56 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ในปี 2553 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 2.8 - 4.1 ต่อปีขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 0.3 - 1.1 ต่อปีถึงแม้ในไตรมาสที่ 1 จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเล็กน้อย โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2554 คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญคือ

o ปัจจัยภายนอก (External Factors) ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2554 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 83.0 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรลเพิ่มขึ้นจากในปี 2553 ร้อยละ 7.0 ต่อปี ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งในทางตรงผ่านการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง และทางอ้อมผ่านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ล้วนประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ประกอบกับแรงเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า

อัตราเงินเฟ้อของโลก โดยล่าสุดพบว่าประเทศจีนกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งในเดือน พ.ย.53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี สาเหตุจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 11.7 ต่อปี ซึ่งเงินเฟ้อดังกล่าวจะถูกส่งผ่านสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

o ปัจจัยภายใน (Internal Factors) ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศได้รับแรงส่งผ่านมาจากราคาในตลาดโลก รวมทั้งราคาอาหารในหมวดผักและผลไม้ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และงานเทศกาลต่างๆ ค่าจ้างแรงงาน ในปี 2554 คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศขึ้น 8-17 บาท/วัน ส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการ ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

อัตราดอกเบี้ยในปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2553 หลังเศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤติ ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการที่มีการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

o นอกจากนั้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.9 และ 11.8 ต่อปี ตามลำดับ จะผลักดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull Inflation) ให้ปรับตัวสูงขึ้นได้

จากแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยในกรณีสูงพบว่าอาจขยายตัวเร่งขึ้นได้ถึงร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่กรณีต่ำจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปีส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0 ต่อปีทั้งนี้ถึงแม้เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2554 แต่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐด้านต่างๆ จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ให้รุกรามไปสู่การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 54 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

1. สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน

ปี 2553 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อไม่ถูกนำมาถกเถียงเป็นประเด็นปัญหาบนโต๊ะเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบช่วงแคบที่ร้อยละ 2.8 - 4.1 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไป โดยในช่วงต้นปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากฐานการคำนวณในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี) ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 52 ในเดือนต่อมาอัตราเงินเฟ้อจึงค่อยๆ ปรับตัวลดลง หลังจากที่ฐานการคำนวณเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนในเดือน พ.ย.53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบเช่นกันที่ร้อยละ 0.3 - 1.1 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 52 ที่ระดับร้อยละ 0.3 เมื่อพิจารณาเทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5 - 3.0 ต่อปี พบว่าในไตรมาสที่ 1 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเล็กน้อย โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี

ทั้งนี้เมื่อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค. - พ.ย. 2553 ) พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี กลับมาขยายตัวหลังจากที่ในปี 2552 หดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจาก

1) ดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ระดับ 77.1 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล ขยายตัวร้อยละ 27.3 ต่อปี เป็นไปตามอุปสงค์ในน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ

2) ดัชนีราคาผักและผลไม้ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่อปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ราคาผักและผลไม้ปรับตัวขึ้นสูง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแหล่งประสบอุทกภัย ทำให้ผลผลิตออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

3) ดัชนีราคาไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และแสงสว่าง ขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปีเนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการลดภาระค่าครองชีพในส่วนของค่าน้ำประปาในเดือน เม.ย.53 ทำให้ประชาชนต้องกลับมามีรายจ่ายในส่วนนี้ดังเดิม

2. ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2554

อัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ มากมายดังเช่นในปี 2553 ทั้งนี้สามารถแบ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้เป็น 2 ส่วนคือ ปัจจัยภายนอก (External Factors) ปัจจัยภายใน (Internal Factors)

ปัจจัยภายนอก (External Factors) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งในทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือในทางตรงเมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โรงกลั่นผู้ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปจะมีภาระต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาได้จึงต้องตั้งราคาขายสูงขึ้นตามมา ส่งผลต่อดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13.6 ของตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อดัชนีหมวดนี้ปรับตัวสูงขึ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปย่อมเพิ่มขึ้นตามมา ขณะเดียวกันในทางอ้อมน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจต่างๆทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันผู้ผลิตจะส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภคโดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทำให้อัตราเงินแฟ้อเพิ่มขึ้นตามมา

สำหรับในปี 2554 ทางสศค.ได้ประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบไว้ที่ระดับ 83.0 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล ช่วงคาดการณ์ 78 - 88 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล (ประมาณการ ณ ธ.ค. 53 ) คิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อปี ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

2) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

ราคาสินค้าเกษตรของไทยมีสินค้าที่สำคัญหลายตัวเป็นสินค้าส่งออกหลัก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ไก่ และกุ้ง ดังนั้นราคาของสินค้าเหล่านี้จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของราคาในตลาดโลก เมื่อราคาในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งออกย่อมปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ผู้ผลิตจะมุ่งผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าขายในประเทศที่มีราคาต่ำกว่า ซึ่งหากขาดการจัดการในเรื่องอุปทานที่ดี ก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนในสินค้าเหล่านั้น เป็นผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้

ในปี 2554 ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกหลายชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ต่างๆ ล้วนประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งภาวะฝนแล้ง และภาวะอุทกภัยดังเช่นในช่วงปลายปี 2553 ของประเทศไทย ทั้งประเทศอินเดีย เวียดนาม บราซิล เป็นต้น ทำให้การเพาะปลูกในปี 2554 เกิดความล่าช้า ประกอบกับสภาพอากาศที่ยังคาดว่าจะแปรปรวนต่อเนื่องเนื่องจากปรากฏการณ์ลานินญา จึงทำให้อุปทานไม่เพียงพอกับความต้องการโดยรวม

3) อัตราเงินเฟ้อของโลก

สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง การที่ราคาสินค้าภายในประเทศมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อราคาส่งออกของสินค้าจากประเทศนั้นๆให้สูงขึ้นตามมา ซึ่งเมื่อสินค้านั้นมีการซื้อขายและถูกส่งมอบไปยังประเทศปลายทาง สินค้าที่ถูกนำเข้าไปนั้นก็จะมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย แสดงให้เห็นถึงการส่งผ่านของอัตราเงินเฟ้อจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง

ล่าสุดพบว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2553 เริ่มมีสัญญาณถึงอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างประเทศจีน โดยในเดือน พ.ย. 2553 อัตราเงินเฟ้อของจีนขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี เทียบกับเดือน ต.ค. 2553 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.4 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน ปัจจัยสำคัญมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 11.7 ต่อปี

จากข้อมูลในปี 2009 พบว่าประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 ของการส่งออกรวมทั้งโลกที่ 12.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นรองแค่เพียงกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.2 ของการส่งออกโลกรวม การที่อัตราเงินเฟ้อในจีนปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในสินค้าทั้งด้านแรงงาน และวัตถุดิบ เป็นผลให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะได้รับการส่งผ่านของแรงกดดันจากเงินเฟ้อโดยตรง

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ประเทศจีนได้มีมาตรการออกมาเพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวแล้วดังนี้

1. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ต.ค. 2553 อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก1ปี (1 Yr. Deposit rate) ปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้1ปี (1 Yr. Lending rate) ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.31 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.56 ต่อปี

2. เพิ่มสัดส่วนวงเงินสำรอง (Reserve Requirement) ของ ธนาคารพาณิชย์ อีกร้อยละ 0.5 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 พ.ย. 2553 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปี 2553 โดยทำให้สัดส่วนวงเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.0 และสัดส่วนวงเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กอยู่ที่ร้อยละ 16.0

3. ใช้มาตรการควบคุมราคาของภาครัฐในการดูแลราคาอาหารและพลังงาน โดยสินค้าประเภทอาหารจะมีมาตรการป้องกันการปั่นราคาจากพวกนักเก็งกำไร ส่วนด้านพลังงานจะเพิ่มอุปทานในน้ำมันดีเซลขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ใช้เพื่อการเกษตร

ปัจจัยภายใน(Internal Factor)ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ

สินค้าเกษตรภายในประเทศมีส่วนสำคัญต่อดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป โดยถ้านับตัวสินค้าในหมวดอาหารสดพบว่ามีสัดส่วนร้อยละ 14.6 ในตะกร้าเงินเฟ้อ การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรจึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าราคาของสินค้ากลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล กล่าวคือราคาจะปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงฤดูแล้งเช่น มะนาว ผักชี และในช่วงเทศกาลกินเจได้แก่ผักสดชนิดต่างๆ

2. ค่าจ้างแรงงาน

ค่าจ้างแรงงานเป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ การขึ้นค่าจ้างแรงงานจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการย่อมผลักภาระนี้ไปสู่ผู้บริโภคโดยปรับราคาของสินค้าต่างๆเพิ่มขึ้น เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นได้

ในปี 2554 คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัว เพิ่มสัดส่วนของการบริโภคภาคเอกชนต่อ GDP เพื่อเป็นการปรับให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างสมดุล ไม่พึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลักอย่างในอดีต ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 8-17 บาท/วัน โดยในกทม.จะปรับเพิ่มขึ้นจาก 206 บาท/วัน เป็น 215 บาท/วัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2554

3. อัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยเป็นต้นทุนทางการเงินของสถานประกอบการที่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการปรับเพิ่มราคาในสินค้าและบริการต่างๆ

ในปี 2554 ทาง สศค.คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 ต่อปี จากปี 2553 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นนี้คาดว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คือครั้งละร้อยละ 0.25 ต่อปี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ลดแรงกดดันที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อได้ส่วนหนึ่ง

นอกจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อด้านอุปทาน (Costpush Inflation) แล้ว หากพิจารณาเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull Inflation) ก็จะพบว่ามีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.9 และ 11.8 ต่อปี ตามลำดับ (ประมาณการ ณ ธ.ค. 53 ) สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะช่วยดึงราคาสินค้าและบริการต่างๆให้ปรับตัวสูงขึ้น

3. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2554

สมมุติฐานในปี 2554 ที่ใช้ประกอบในการประมาณการ

           รายการ                          กรณีต่ำ    กรณีฐาน    กรณีสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล)           78.0     83.0     88.0
อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ)               29.5     29.5     28.5
ราคาส่งออกสินค้าเกษตร (ร้อยละ/ปี)                14.1     18.8     28.8
ค่าจ้างขั้นต่ำ (บาท/วัน)                         215.0    215.0    215.0

การประมาณการอัตราเงินเฟ้อโดยอาศัยแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อของ สศค. (Inflation Model: Top Down Approach) พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยในกรณีสูงพบว่าอาจขยายตัวเร่งขึ้นได้ถึงร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่กรณีต่ำจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งจาก 1) ปัจจัยพื้นฐานและแรงเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้า 2) ค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และ 3) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล หลังแหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 ต่อปี โดยพบว่าอาจมีบางเดือนที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเคลื่อนไหวเข้าไปใกล้กรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการการเงินได้

ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อในปี 2554 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2553 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจได้รับการบรรเทาลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐต่างๆ เช่น การต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือน ทั้งในส่วนค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารรถสาธารณะ มาตรการตรึงราคาสินค้าทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค มาตรการสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอำนาจซื้อให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนยังสามารถจับจ่ายใช้สอยในสินค้าและบริการได้อย่างเป็นปกติขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการการเงินให้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น (Tightening Monetary Policy) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ (Demand-pull Inflation) ไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จากปัญหาอัตราเงินเฟ้อยังมีความเป็นไปได้สูง โดยมีโอกาสเกิดในกรณีสูงได้ หากเกิดการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นอีกครั้งดังเช่นในปี 2551 อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายมีความพร้อม มีการเตรียมตัวรับมือ และการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงักไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ