นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวจากโรงแรม Laguna Beach Resort จังหวัดภูเก็ตว่า ในช่วงเช้าวันนี้ ได้จัดพิธีเปิดการประชุม Asian Regional Public Debt Management Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ทำหน้าที่บริหารหนี้สาธารณะจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้นประมาณ 140 คน โดยนายจักรกฤศฏิ์ฯ ได้กล่าวเปิดการประชุมร่วมกับนาย Bindu N. Lohani, Vice President Finance and Administration ของ ADB และได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ จากวิกฤตการณ์การเงินโลก โดยในช่วงบ่ายจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์การระดมทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจผันผวน การกู้ยืมและการบริหารหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และการให้กู้ต่อของรัฐบาลและการถ่ายโอนต้นทุนในการกู้ยืม
สำหรับในช่วงเช้า มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยกล่าวถึงบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารหนี้สาธารณะที่มีความสำคัญมากขึ้นในการรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลกที่ความต้องการระดมทุนมาเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งถึงแม้ในประเทศในภูมิภาคเอเชียไม่ได้รับผลกระทบความวิกฤติมากเท่ากับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรป แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาคเศรษฐกิจจริงที่การบริโภคลดลงจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ดี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ช่วยให้ประเทศในกลุ่มเอเชียสามารถฟื้นตัวจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศว่าเป็นกลไกสำคัญในการทำให้การบริหารหนี้สาธารณะมีประสิทธิภาพ โดยการัฒนาตลาดตราสารหนี้จะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนและความเสี่ยงทางการเงินของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งหากเทียบการเจริญเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในเอเชียในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 กับปัจจุบัน จะเห็นว่าตลาดตราสารหนี้ในเอเชียได้พัฒนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้มีการพัฒนาให้มีพันธบัตรที่ใช้เป็นอัตราอ้างอิง (Benchmark bonds) ขยายฐานนักลงทุนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ต่างๆ เช่น การออกพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 และ 50 ปี พันธบัตรที่อ้างอิงอัตราผลตอบแทนกับอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนการปรับรูปแบบการออกพันธบัตรออมทรัพย์ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้
การพัฒนาเครือข่ายของผู้ที่มีหน้าที่บริหารหนี้สาธารณะให้เข้มแข็งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) จากกันและกัน การประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารหนี้สาธารณะระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการจัดการความท้าทายในการบริหารหนี้สาธารณะ บริหารความเสี่ยง การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านนโยบายการเงินและการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.Vice President Finance and Administration ของ ADB ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทย
ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ และได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตการณ์การเงินของโลก บทบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของหน่วยงานด้านบริหารหนี้สาธารณะ ความสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งกล่าวถึงบทบาทของ ADB ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกโดยการให้กู้ยืมเงินเพื่อดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียโดยการออกพันธบัตรADB ในสกุลเงินท้องถิ่นในประเทศต่างๆ การจัดตั้งโครงการ Asian Currency Notes Programme และการร่วมจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันความน่าเชื่อถือและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ ASEAN+3 นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึงความสำคัญในการบริหารหนี้สาธารณะให้มีความยั่งยืนในระยะกลางและระยะยาว
3.ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และบริษัท PIMCO ได้นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์การเงินโลกในภาพรวม โดยแสดงถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและมาตรการในประเทศในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศในกลุ่มเอเชียโดยเห็นว่า ประเทศในกลุ่มเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวแต่สามารถปรับตัวรับมือได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่ควรระวัง ได้แก่ กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าออกอย่างเสรี การจัดการอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการเงินที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลและบริหารหนี้สาธารณะมีความท้าทายมากขึ้น จากนั้นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะของนิวซีแลนด์และศรีลังกาได้กล่าวถึงผลกระทบและมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งหลังจากการนำเสนอได้มีผู้เข้าร่วมการประชุมสอบถามและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักนโยบายและแผน
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0-2265-8050 ต่อ 5505
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 27/2554 16 มีนาคม 54--