รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 17, 2011 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2554

Summary:

1. โตโยต้า เผยยอดขายรถทั้งระบบเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 อยู่ที่ 77,213 คัน

2. ซีพีชี้ผลกระทบสึนามิแค่เหตุการณ์ชั่วคราว เชื่อการส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

3. เฟด (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 — 0.25

Highlight:
1. โตโยต้า เผยยอดขายรถทั้งระบบเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 อยู่ที่ 77,213 คัน
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรวมรถยนต์ในประเทศเดือนก.พ.54 มียอดขายทั้งสิ้น 77,213 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 ซึ่งเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 รถเพื่อการพาณิชย์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.6 และ รถกระบะขนาด 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อเร่งส่งมอบ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยยอดขายรถทั้งระบบสะสม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.54) มีปริมาณการขาย 145,611 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคในสินค้าคงทนที่ยังคงปรับตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวได้ดี และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อและมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆเช่น ecocar มีส่วนกระตุ้นให้มีการซื้อมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนม.ค.54 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 25.9 และข้อมูลการจ้างงานในเดือนธ.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 2.7
2. ซีพีชี้ผลกระทบสึนามิแค่เหตุการณ์ชั่วคราว เชื่อการส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
  • รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยกรณีสึนามิถล่มญี่ปุ่นว่า จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับความเสียหายร้อยละ 0.1-0.2 ทำให้ปี 54 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.3-1.4 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ผลกระทบจากเหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยโดยตรง เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 10 หรือมูลค่า6-7 แสนล้านบาทต่อปี แต่คาดว่าญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้เร็ว กระทบการส่งออกของไทยไม่มากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นถึงร้อยละ 10.5 ของมูลค่าส่งออกรวม ญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากจีน (สัดส่วนปี 53) โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้าและไก่แปรรูป ทั้งนี้ การส่งออกไก่แปรรูปได้รับผลกระทบสูงสุดเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าไก่แปรรูปสำคัญเป็นอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 46.5 ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของไทย ในปี 53 อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าบริโภคน่าจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากภัยธรรมชาติ จึงอาจมีผลกระทบแค่ระยะสั้นเท่านั้น
3. เฟด (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 — 0.25
  • การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับร้อยละ 0 - 0.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ และพร้อมเดินหน้าในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาล (มาตรการผ่อนคลายหรือ QE2 ) วงเงิน 6.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิ.ย. 54 ต่อ อย่างไรก็ตาม เฟดจะทบทวนเวลาในการเข้าซื้อพันธบัตร และขนาดของโครงการซื้อพันธบัตรเป็นระยะๆ เพื่อเป้าหมายที่จะกระตุ้นการจ้างงานให้สูงขึ้น ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เฟด (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 0 — 0.25 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาย รวมถึงการจ้างงานในประเทศ โดยการจ้างงานนอกเกษตรในเดือน ก.พ. 54 มีจำนวน 192,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 54 ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 8.9 ของกำลังแรงงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี นอกจากนี้แนวโน้มดัชนี NAHB Housing Market ที่สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวระดับร้อยละ 17 ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ