Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2554
Summary:
1. TDRI ชี้วิกฤตลิเบียยังไม่กระทบศก.ไทย
2. รมว.อุตฯมั่นใจภัยภิบัติที่ญี่ปุ่นกระทบลงทุนไทยแค่ระยะสั้น
3. หุ้นเอเชียร่วงลงอีกรอบจากความวิตกกังวลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น
Highlight:
1. TDRI ชี้วิกฤตลิเบียยังไม่กระทบศก.ไทย
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เหตุการณ์ตึงเครียดในประเทศลิเบียจะส่งผลกระทบต่อปัญหาราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่ายังไม่น่ากังวล ส่วนปัญหาเงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมีผลจากปัจจัยจากภายนอกประเทศได้แก่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย กับปัจจัยภายในประเทศ ที่เกิดจากปัญาหาราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูง เช่น ราคาน้ำมันปาล์ม
- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในประเทศลิเบียมีความรุนแรงที่ลดลง ถึงแม้ว่าจะยังไม่ส่งผลในระยะสั้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะยาว ที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 มี,ค, 53 ราคาน้ำมันดิบดูไบและ WTI อยู่ที่ 108.19 และ 104.51 ตามลำดับ ปรับค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 และ 14.11 จากต้นปี 54 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2554 จะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2553 และจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.54
2. รมว.อุตฯมั่นใจภัยภิบัติที่ญี่ปุ่นกระทบลงทุนไทยแค่ระยะสั้น
- รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยหลังแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นว่า จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยไม่มาก และจะมีผลในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอาจประสบปัญหาจากการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเพื่อนำมาประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากการที่ได้ประชุมร่วมกันกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเห็นตรงกันว่าจะรอดูท่าที ความเสียหายที่อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว เพื่อหามาตรการมารองรับ
- สศค.วิเคราะห์ว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากญี่ปุ่น ปี 53 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,062.7 ล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการลงทุนสุทธิทั้งหมดของไทย คาดว่าผลจากแผ่นดินไหว จะไม่กระทบการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนใหม่จากญี่ปุ่น ที่อาจจะชะลอลงตัวในระยะสั้น เนื่องจากญี่ปุ่นต้องจัดสรรเงินเพื่อใช้ในการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย ในส่วนสินค้าทุนที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และแผงวงจรไฟฟ้า อาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากปัญหาติดขัดในการขนส่งสินค้าออกจากญี่ปุ่น จากข้อจำกัดด้านความพร้อมของท่าเรือ การคมนาคมและการจำกัดการใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น สศค.คาดว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงในปี 54 ประมาณร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน
3. หุ้นเอเชียร่วงลงอีกรอบจากความวิตกกังวลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น
- สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าภาวะตลาดหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงอีกครั้ง เนื่องจากความวิตกกังวลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น โดยหุ้นของบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิเช่น บ. Tokyo Electric Power และหุ้นของ บ. Toyota Motor ลดลงร้อยละ 6.4 และ 2.1 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น ลดลงเฉลี่ยปิดลบร้อยละ 1.7 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในเอเชียที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลียลดลงที่ร้อยละ 6.1 ตลาดหุ้นฮ่องกง (ดัชนีฮั่งเส็ง) ปรับลดลงร้อยละ 0.3
- สศค. วิเคราะห์ว่าความกังวลวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วเอเชียรวมถึงตลาดหุ้นไทย (ณ 22 มี.ค. 54) เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในรูปแบบของ FDI ในไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการลงทุนสุทธิทั้งหมดในปี 53 การลงทุนจากญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 1.062 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลในระยะสั้น เนื่องจากญี่ปุ่นจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับประเทศเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนสินค้าพลังงาน และได้รับแรงซื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จากความเสียหายดังกล่าวคาดว่าจะเป็นตัวเร่งให้ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในไทยเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจนส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงดังกล่าว
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th