รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 มีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 31, 2011 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2554

Summary:

1. เล็งชงครม.จ่ายชดเชยน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรใต้ร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิต

2. โตโยต้าเล็งย้ายฐานออกจากญี่ปุ่น

3. S&P ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือโปรตุเกส

Highlight:
1. เล็งชงครม.จ่ายชดเชยน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรใต้ร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิต
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคใต้ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหายหนัก โดยในส่วนของสวนยางคาดว่าจะมีสวนยางได้รับความเสียหายไม่เกิน 5 หมื่นไร่ รวมถึงได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณานโยบายการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยกำหนดให้ความช่วยเหลือพืชแต่ละชนิดในอัตราร้อยละ 55 ของต้นทุน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ได้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนประมาณ 71,875 ครัวเรือน ถนนเสียหายกว่า 8 เส้นทาง และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายรวมกว่า 56,600 ไร่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่าหน้าจะเป็นเพียงระยะสั้นและไม่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่มีนโยบายการชดเชยเงินช่วยเหลือเกษตรกรจะส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น
2. โตโยต้าเล็งย้ายฐานออกจากญี่ปุ่น
  • ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบมีแนวคิดที่จะย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังเป็นฐานการผลิตที่น่าลงทุน ทั้งในส่วนของการผลิตนถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่มีภาครัฐเข้าให้การสนับสนุน ประกอบกับไทยมีค่าแรงไม่สูงมาก
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคเอกชนของไทยในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สถิติการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเดือน ม.ค.-ก.พ. 54 มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 และ 50.8 ตามลำดับ โดยกิจ การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ กิจการผลิตเครื่องจักร กิจ การผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การผลิตและการจำหน่ายยั้งคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และ 9.9 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ก.พ. 54 อยู่ที่ 81.4 เพิ่มขึ้นจาก 77.8 ในเดือน ม.ค. 54
3. S&P ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือโปรตุเกส
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวช์ (S&P)ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรของรัฐบาลโปรตุเกสลง 1 ระดับ จาก BBB เป็น BBB- ทั้งนี้ การปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตร เนื่องจากเกิดข้อกังวลที่เกิดจากวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินที่ประเทศสมาชิกเสนอเพิ่มเป็นจำนวน 440 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบกลไกการช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มประเทศยูโรโซน (European Stability Mechanisem) นั้นไม่ได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิกและถูกเลื่อนไปในเดือน มิ.ย. 54
  • สศค.วิเคราะห์ว่าโปรตุเกสเป็นหนึ่งในกลุ่ม PIGS ที่ประสบปัญหาการขาดดุลการคลังต่อเนื่องและส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ตามสนธิสัญญามาสทริชต์ โดยปัจจุบันยอดหนี้ดังกล่าวอยู่ในระดับ ร้อยละ 80-90 ทั้งนี้ ผลจากการระดมเงินจากการขายพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยยกฐานะการคลังโดยมีเป้าลดสัดส่วนการขาดดุลให้อยู่ในระดับร้อยละ 4.6 ของGDP ภายในปีนี้ (จากร้อยละ 7.3 ในปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากปัญหาทางการคลังดังกล่าวแล้ว โปรตุเกสยังคงมีปัญหาหนี้สถาบันการเงินในระดับสูง โดยประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่ในกลุ่มยูไร ได้แก่

เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งหากโปรตุเกสประสบปัญหาการชำระหนี้ (Credit Default) จะกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศเหล่านั้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดข้อกังวลในการช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มประเทศยูโรโซนดังกล่าว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ